fbpx
Home
|
ข่าว

“ไพบูลย์” ผู้ตรวจฯ ให้ส่งศาลรธน.วินิจฉัย “MOU 2544”

Featured Image

 

 

 

 

“ไพบูลย์” ยื่นคำร้องไปศาลรัฐธรรมนูญผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัย “MOU 2544” ทำขึ้นโดยขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เป็นอันใช้บังคับไม่ได้ ตกเป็นโมฆะทั้งฉบับตั้งแต่เริ่มแรก เพื่อปกป้องอธิปไตยของไทยทางทะเลพื้นที่ 16 ล้านไร่ และผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติของไทยในทะเลมูลค่า 20 ล้านล้านบาท

 

 

 

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ในฐานะนักกฎหมาย เดินทางไปยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ในฐานะบุคคลหนึ่งของปวงชนชาวไทยที่มีสิทธิในเขตอธิปไตยของไทยทางทะเลอ่าวไทยและผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติของไทยในทะเลอ่าวไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 3 หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 25 และ มาตรา 43 (2)

 

ซึ่งผู้ร้องได้ถูกละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญโดยตรงและอาจจะได้รับความเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องมาจากการถูกละเมิดสิทธิ และการถูกละเมิดสิทธินั้นยังคงมีอยู่จากการกระทำของกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ผู้ถูกร้องที่ 1 และ กระทรวงการต่างประเทศ ผู้ถูกร้องที่ 2 ในการนำบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ซึ่งต่อไปในคำร้องเรียกว่า”MOU 2544″

 

โดยผู้ถูกร้องทั้งสองใช้เป็นเครื่องมือมาดำเนินการแบ่งเขตอธิปไตยของไทยทางทะเลอ่าวไทยในพื้นที่ 26,000 ตารางกิโลเมตร (16 ล้านไร่ และแบ่งผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติในทะเลของไทยมูลค่า 20 ล้านล้านบาทให้แก่กัมพูชา ทั้งที่ พื้นที่ตาม “MOU 2544” เป็นเขตอธิปไตยของไทยทางทะเลและผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติของไทยในทะเลทั้งหมดตามแผนที่แนวเขตไหล่ทวีปของประเทศไทยด้านอ่าวไทย

 

แนบท้ายประกาศกำหนดเขตไหล่ทวีปของประเทศไทยด้านอ่าวไทยที่กำหนดแนวเขตขึ้นตรงตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982 ผู้ร้องได้พบข้อกฎหมายว่า “MOU 2544” มีสถานะเป็นหนังสือสัญญามีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐ

 

ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ตามบรรทัดฐานคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 11/2542 ,คำวินิจฉัยที่ 33/2543 และคำวินิจฉัยที่ 6-7/2551

 

และปรากฎหลักฐานว่าผู้ถูกร้องทั้งสองได้ยอมรับว่า “MOU2544” มีสถานะเป็นหนังสือสัญญาหรือสนธิสัญญา ที่ต้องเสนอรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ

 

แต่ปรากฏว่า “MOU 2544″ ได้กระทำขึ้นโดยไม่ได้ขอความเห็นชอบจากรัฐสภาไทย จึงมีผลให้” MOU 2544″ เป็นบทบัญญัติใดหรือการกระทำใดที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับไม่ได้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 5 และมีผลให้ “MOU 2544” ตกเป็นโมฆะทั้งฉบับตั้งแต่เริ่มแรก (void ab intio) และมีผลในทางกฎหมายไม่ผูกพันรัฐภาคีทั้งสอง ตามหลักการเรื่อง “ความไม่สมบูรณ์แห่งสนธิสัญญา” (Invalidity of Treaties) ซึ่งบัญญัติไว้ในอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ.1969

 

ทั้งนี้ ผู้ร้องเห็นว่าหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า “MOU 2544” เป็นหนังสือสัญญาที่กระทำการโดยไม่ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา จึงเป็นบทบัญญัติใดหรือการกระทำใดที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เป็นอันใช้บังคับไม่ได้ ตกเป็นโมฆะทั้งฉบับตั้งแต่เริ่มแรก และไม่ผูกพันไทย จะเป็นประโยชน์ต่อไทย

 

หากมีข้อพิพาทเรื่องเขตอธิปไตยของไทยทางทะเลอ่าวไทยไปสู่ศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ เพราะทำให้ฝ่ายกัมพูชาไม่อาจ กล่าวอ้าง “MOU 2544” เป็น หลักฐานว่าไทยยอมรับว่าบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

 

อาจทำให้เขตอธิปไตยของไทยทางทะเลอ่าวไทยพื้นที่ 26,000 ตารางกิโลเมตร (16 ล้านไร่) และผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติ มูลค่า 20 ล้านล้านบาทของไทยในทะเลอ่าวไทยเป็นของไทยทั้งหมดตามกฎหมายระหว่างประเทศ เป็นต้นว่า อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 หากฝ่ายกัมพูชาโต้แย้งเป็นข้อพิพาทในเรื่องเขตอธิปไตยทางทะเลของไทย ผู้ร้องเห็นว่าเพื่อให้ได้ข้อยุติระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธีและรวดเร็ว และจะเป็นประโยชน์กับไทยมากกว่า

 

นายไพบูลย์ เห็นว่าไทยควรเป็นฝ่ายนำคดีข้อพิพาทในเขตอธิปไตยทางทะเลฟ้องต่อศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ (International Tribunal for the Law of the Sea: TLOS) ตั้งอยู่ที่ นครฮัมบรูกส์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งเป็นกลไกตุลาการอิสระของสหประชาชาติ มีอำนาจตัดสินข้อพิพาทที่ เกี่ยวข้องกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 ประกอบด้วยผู้พิพากษาจากประเทศต่าง ๆ ทั้งหมด 21 ท่าน

 

ซึ่งปัจจุบันมีผู้พิพากษาที่เป็นชาวไทย 1 ท่านอาศัยเหตุดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น ผู้ร้องยื่นคำร้องนี้ต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 213 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 46 วรรคหนึ่ง มาตรา 47 และ มาตรา 48 และขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาส่งคำร้องของผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า “MOU 2544″มีสถานะเป็นหนังสือสัญญา

 

เมื่อกระทำการโดยไม่ได้ขอความเห็นชอบจากรัฐสภาไทย “MOU 2544” จึงเป็นบทบัญญัติหรือการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มีผลตกเป็นโมฆะทั้งฉบับตั้งแต่เริ่มแรกไม่ผูกพันไทย แต่ประการใด แต่ผู้ถูกร้องทั้ง 2 กลับนำมาใช้เป็นเครื่องมือดำเนินการแบ่งเขตอธิปไตยของไทยทางทะเลและผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติในทะเลของไทยให้แก่กัมพูชา

 

การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองจึงเป็นการกระทำละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญของผู้ร้อง จึงขอศาลรัฐธรรมนูญโปรดวินิฉัยและมีคำสั่งให้บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐยาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ค.ศ.2001 (พ.ศ.2544) หรือ MOU 2544 เป็นหนังสือสัญญาที่กระทำการโดยไม่ได้ขอความเห็นชอบของรัฐสภา

 

จึงเป็นบทบัญญัติใดหรือการกระทำใดที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเป็นอันใช้บังคับไม่ได้ ตกเป็นโมฆะทั้งฉบับตั้งแต่เริ่มแรก และขอศาลรัฐธรรมนูญโปรดมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการกระทำในการนำ “MOU 2544” มาใช้เป็น,ครื่องมือดำเนินการแบ่งเขตอธิปไตยของไทยทางทะเลอ่าวไทยและแบ่งผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติทางทะเลของไทยให้แก่กัมพูชา

 

ผู้ร้องขอเรียนว่า หากผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้วมีมติยื่นคำร้องนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ร้องขอเป็นผู้ร้องที่ 2 ร่วมกับผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อผู้ร้องจะมีสิทธิในฐานะคู่ความนำเสนอพยานหลักฐานเพิ่มเติมต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่หากผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติไม่ยื่นคำร้องนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือไม่ยื่นคำร้องนี้ภายในเวลา 60 วันนับแต่วันที่รับคำร้อง ผู้ร้องขอใช้สิทธิ์ยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 48 วรรคสอง

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

 

 

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube