fbpx
Home
|
ข่าว

“สุทิน” มอบ 5 นโยบาย ศรชล.ย้ำปกป้องผลประโยชน์ชาติทางทะเล

“สุทิน” มอบ 5 นโยบาย ศรชล.แทนนายกฯ ย้ำปกป้องผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เพิ่มผลประโยชน์ทางทะเลในทุกมิติ-รักษาอธิปไตย

 

 

นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้แทน นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล หรือ ศรชล. ประชุมมอบนโยบายแนวทางการปฏิบัติงานของ ผอ.ศรชล. โดยมี พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะ รอง.ผอ.ศรชล. พร้อมด้วยอธิบดีและผู้แทนหน่วยงานของ ศรชล. ทั้ง 7 หน่วยงาน ประกอบด้วย กองทัพเรือ กรมประมง กรมเจ้าท่า กรมศุลกากร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กองบังคับการตำรวจน้ำ และกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน ตลอดจนผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้แทนจากจังหวัดชายทะเล 22 จังหวัด เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมอวานี พลัส ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ

 

โอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ผลประโยชน์ของชาติทางทะเลมีลักษณะที่หลากหลาย โดยมูลค่าทางเศรษฐกิจของทะเลในประเทศไทย ประมาณ 24 ล้านล้านบาทต่อปี ซึ่งได้รับจากกิจกรรมทางทะเล อาทิ การท่องเที่ยว พาณิชย์นาวี และการแสวงประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเล โดยในฐานะที่หน่วยงานนี้มีหน้าที่และอำนาจรับผิดชอบเกี่ยวกับการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล จึงต้องดำเนินการป้องกันรักษา และเพิ่มผลประโยชน์ของชาติทางทะเลในทุกมิติ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมรักษาอำนาจอธิปไตย สิทธิอธิปไตย และสิทธิหน้าที่อื่นใด อันเป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้นนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศรชล. จึงได้มอบนโยบายและแนวทางปฏิบัติงานให้กับ ศรชล. ดังนี้

 

1.การขับเคลื่อนการบูรณาการฐานข้อมูลความมั่นคงทางทะเล ไปสู่การเป็นหน่วยงานเฉพาะกิจร่วม ที่ขับเคลื่อนด้วยฐานข้อมูลความมั่นคงทางทะเล

2.ยกระดับความพร้อมในการค้นหา ช่วยเหลือประชาชนและผู้ประสบภัยทางทะเล ให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากล ตามที่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศกำหนด (International Maritime Organization : IMO)

3.พัฒนาประสิทธิภาพการช่วยเหลือประชาชนและนักท่องเที่ยว ในการส่งกลับผู้เจ็บป่วยสายแพทย์ในทะเล (MEDEVAC at Sea) ให้มีมาตรฐานสากล โดยร่วมกับทุกหน่วยงานในการส่งกลับผู้ป่วยให้รวดเร็ว ถูกต้องตามวิธีทางการแพทย์

4.การบูรณาการหน่วยงานทางทะเลและหน่วยงานความมั่นคง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในการสกัดกั้นการกระทำผิดกฎหมายทางทะเล (Maritime Interdiction at Sea) ในทุกมิติ เพื่อสนับสนุนรัฐบาลตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13

5.การขับเคลื่อนสมุทราภิบาล (Maritime Good Governance) ในการสร้างความตระหนักรู้ภาคประชาชน ผู้ประกอบการ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่จังหวัดชายทะเล ชุมชน และเกาะแก่งเพื่อให้เป็นหุ้นส่วนการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล

 

ทั้งนี้ ศรชล. มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภายใต้การบังคับบัญชา ของนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศรชล. โดยมุ่งเน้นความมั่นคงทางทะเลแบบองค์รวม จึงมีการบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานหลักของ ศรชล. 7 หน่วยงาน ในการบังคับใช้กฎหมายในทะเล และให้ความคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล

 

สำหรับผลการปฏิบัติงานที่สำคัญ คือ การช่วยเหลือประชาชนและนักท่องเที่ยวในทะเล ,การส่งกลับผู้เจ็บป่วยสายแพทย์ การบูรณาการหน่วยงานทางทะเลและหน่วยงานความมั่นคงทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในการสกัดกั้นการกระทำผิดกฎหมายทางทะเล ,การทำลายสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง ,การส่งเสริมการท่องเที่ยว ,การสร้างความตระหนักรู้ผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เพื่อตอบสนองภารกิจในการจัดการแก้ไขปัญหาและเพิ่มขีดความสามารถของหน่วยงานของรัฐในการป้องกัน ปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายที่กระทบต่อผลประโยชน์ของชาติทางทะเล

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube