fbpx
Home
|
ข่าว

”ชัยธวัช” หนุนทำประชามติ 3 ครั้ง ใช้เบิกทาง สว.

Featured Image
”ชัยธวัช” หนุนทำประชามติ 3 ครั้ง ใช้เบิกทาง สว. พร้อมแนะแนบคำถามพ่วงหาฉันทามติร่วมประเด็นเห็นต่าง

 

 

 

 

 

 

 

นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะหัวหน้าพรรคฯ กล่าวถึงข้อเสนอจากนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกรัฐมนตรี และนายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะ 2 ตัวแทนคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญฯ ที่เสนอให้สมาชิกรัฐสภา เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับต่อรัฐสภา เพื่อให้เกิดปัญหาการตีความอำนาจของรัฐสภา

 

 

 

ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ที่รัฐสภาจะมีอำนาจในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวโดยที่ยังไม่มีการจัดการออกเสียงประชามติได้หรือไม่ โดยย้ำว่า จุดยืนของพรรคก้าวไกล เห็นว่า รัฐสภามีอำนาจโดยสมบูรณ์ ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อให้มี สสร.ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา

 

 

 

หากพิจารณาให้ดีแล้ว จะพบว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยว่า จะต้องจัดการออกเสียงประชามติ แต่เพียงแนะนำให้ทำประชามติก่อน พร้อมย้ำข้อเสนอของพรรคก้าวไกล ให้จัดการออกเสียงประชามติ 3 ครั้งตั้งแต่ก่อนการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ให้รัฐสภาพิจารณา เพื่อประโยชน์ทางการเมือง เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องอาศัยเสียง 1 ใน 3 ของสมาชิกวุฒิสภา

 

 

 

หรือ สว.ด้วย และที่ผ่านมา สว.ก็มีจุดยืนชัดเจนว่า หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หรือให้มี สสร.มายกร่างฯ ใหม่ ทั้งฉบับ ควรจะต้องทำประชามติ ดังนั้น จึงเห็นว่า ควรจัดการประชามติตั้งแต่แรก เพื่อไม่ให้เสียเวลาในขั้นตอนของ สว.จนเสียโอกาส

 

 

 

นายชัยธวัช มองว่า แม้การถามศาลรัฐธรรมนูญก่อนจะเป็นการสร้างความชัดเจนในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ในอีกมุมหนึ่ง อาจทำให้ต้องใช้เวลามากจนเกินไป และไม่ควรทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นทุกอย่าง หรือเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ โดยรัฐสภาสามารถมีคำวินิจฉัยได้ เพียงแต่ว่า ประเด็นสำคัญไม่ใช่การตีความรัฐธรรมนูญ หรือคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ แต่จะหาแนวทางทำให้ได้เสียง สว. 1 ใน 3 อย่างไร ผลการออกเสียงประชามติครั้งแรก จะทำให้ สว.ยอมรับได้ จึงถือเป็นประเด็นสำคัญ

 

 

 

นายชัยธวัช เห็นว่า ควรใช้โอกาสในการจัดการออกเสียงประชามติในครั้งแรก หาฉันทามติร่วมของประชาชนได้ว่า ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ เพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมืองต่อข้อเสนอการตั้ง สสร. และบางประเด็นที่สังคม ยังมีความเห็นแตกต่างกัน ก็สามารถทำเป็นคำถามพ่วงได้ เพื่อหาข้อยุติความเห็นต่างร่วม บนกระบวนการประชาธิปไตย

 

 

 

 

โดยยอมรับว่า การแนบคำถามพ่วงนี้ เป็นจุดยืน และข้อเสนอของพรรคก้าวไกล ที่อยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จริง ๆ ดังนั้น จึงไม่อยากให้มีการออกแบบคำถามหลักที่มีเงื่อนไขยิบย่อย จนทำให้ประชาชนที่เห็นด้วยกับการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ไม่เห็นด้วยกับประเด็นยิบย่อย จนลงมติไม่เห็นชอบ หรือไม่ลงคะแนน ดังนั้น หากอยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จริง คำถามหลักควรจะเป็นคำถามที่กว้าง และมีจุดร่วมมากที่สุด ส่วนประเด็นที่ยังมีความเห็นแตกต่างกัน สามารถถามได้ในคำถามย่อย

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube