fbpx
Home
|
ข่าว

ปลัดมท.ช่วยปชช.ถูกน้ำท่วมเตือนแม้คลี่คลายก็อย่าประมาท

Featured Image
ปลัดมหาดไทย การให้ความช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์น้ำท่วม พร้อมเตือน แม้หลายพื้นที่จะคลี่คลายก็ “อย่าประมาท” แนะติดตามข่าวสารจากภาครัฐอย่างใกล้ชิด

 

 

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่พี่น้องประชาชนในหลายจังหวัดกำลังประสบอยู่ในขณะนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการเน้นย้ำและกำชับแนวทางการให้บริหารจัดการสถานการณ์เพิ่มเติมจากแนวทางที่ทุกจังหวัด/อำเภอถือปฏิบัติกันอยู่แล้ว คือ “เรื่องของความรวดเร็ว” ในการที่จะลงไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชน

 

 

ทั้งก่อนเกิดภัย ระหว่างเกิดภัย และหลังเกิดภัย โดยที่สำคัญที่สุดก็คือว่า ทางผู้นำหน่วยในพื้นที่ อันประกอบไปด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด และนายอำเภอ จะต้องมีการดูแล บูรณาการเข้าไปบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับพี่น้องประชาชน ตามมาตรการที่ได้ซักซ้อมกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเรื่องใหญ่คือ “ต้องประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารให้พี่น้องประชาชนได้รับรู้รับทราบถึงสถานการณ์ของน้ำ” ทั้งน้ำจากฟากฟ้า คือ ฝนตก และน้ำจากต้นทางของแม่น้ำลำคลอง ลำห้วย คือ จากเทือกเขา

 

 

รวมตลอดจนถึงอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่มีปริมาณความจุน้ำน้อยที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยใช้กลไกมิสเตอร์เตือนภัย จิตอาสา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ช่วยกันในการสอดส่อง สังเกต ดูแล และคอยเตือนภัย แจ้งเตือน (warning) เพื่อที่จะรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงไปของสถานการณ์น้ำ

 

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในจุดเสี่ยงภัย เช่น บริเวณตีนเขาที่มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดดินสไลด์หรือเป็นเส้นทางที่อยู่น้ำไหลหลาก เพราะตอนนี้สถานการณ์ของทางภาคเหนือส่วนใหญ่จะเป็นน้ำไหลหลากเนื่องจากสภาพภูมิประเทศเป็นที่สูง และมีสิ่งกีดขวางทางน้ำ

 

 

ทั้งนี้ หากประเมินแล้วว่าจะเกิดเหตุ แต่ยังไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอก็จำเป็นต้องใช้อำนาจตามกฎหมายในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด/อำเภออย่างจริงจัง ต้องออกคำสั่ง ให้เด็ดขาด เพื่อป้องกันความเสี่ยงไม่ให้เกิดขึ้น ป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งการสร้างเครือข่ายขยายผลฐานความรู้ หรือฐานข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งน้ำ เกี่ยวกับจุดเสี่ยงภัย เกี่ยวกับช่องทางการสื่อสารที่จะเฝ้าระวังติดตามน้ำ นำข้อมูลข่าวสารจากการเฝ้าระวังติดตามน้ำไปสู่พี่น้องประชาชนอย่างเต็มกำลัง

 

 

สำหรับสถานการณ์อุทกภัยในครั้งนี้ กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติได้กำชับไปยังทุกจังหวัดในการเตรียมรับสถานการณ์ในช่วงฤดูฝน ซึ่งทุกจังหวัดได้บูรณาการในการเตรียมความพร้อม และซักซ้อมแนวปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกด้าน แต่ทว่าเมื่อเกิดสถานการณ์ขึ้น ก็ส่งผลทำให้หลายพื้นที่ต้องประสบสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก

 

 

โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ลุ่ม รวม 28 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ ลำพูน เชียงใหม่ ลำปาง สุโขทัย น่าน ตาก กำแพงเพชร แพร่ เลย ชัยภูมิ นครราชสีมา อุดรธานี ยโสธร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น อุบลราชธานี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครนายก ตราด กาญจนบุรี ลพบุรี สมุทรปราการ สตูล และจังหวัดยะลา รวม 94 อำเภอ 320 ตำบล 1,361 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 22,499 ครัวเรือน ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ใน 12 จังหวัด 61 อำเภอ 239 ตำบล 1,057 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 18,797 ครัวเรือน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

 

 

นายสุทธิพงษ์ ยังได้กล่าวอีกว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้ ขอให้พี่น้องประชาชนอย่าตระหนกตกใจ โดยทุกจังหวัดได้บูรณาการภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนเร่งเข้าช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง ด้วยเจตนาเดียวกัน คือ มุ่งหมายให้พี่น้องประชาชนได้ใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติโดยเร็วที่สุด และขอเรียนว่า สถานการณ์ที่เกิดในตอนนี้เป็นภาวะน้ำท่วมไหลหลากที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และจะไหลลงไปสู่ที่ต่ำอย่างรวดเร็ว แล้วก็จะดีขึ้น “แต่ถึงอย่างไรก็อย่าได้ประมาท” ด้วยการติดตามฟังข่าวพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา

 

 

รวมทั้งจากผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น อย่างต่อเนื่อง และขอให้เชื่อมั่นในการทำงานของทุกภาคส่วนว่าสามารถช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในยามเกิดสถานการณ์อุทกภัยได้อย่างเต็มกำลังความสามารถ

 

 

นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าในช่วงเวลานี้ เราอยู่ในช่วงเวลาที่กำลังประสบกับสถานการณ์ “น้ำท่วม” ในพื้นที่ 28 จังหวัด แต่ก็ต้องอย่าลืม “น้ำแล้ง” ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คนมหาดไทยก็ต้องดูแลพี่น้องประชาชนอีกหลายจังหวัดที่ในพื้นที่กำลังประสบกับสถานการณ์ภัยแล้งจากอิทธิพลของเอลนีโญหรือภาวะฝนแล้ง อย่างเช่นที่จังหวัดนครสวรรค์ ตอนนี้บึงบอระเพ็ดยังต้องเพียรพยายามสูบน้ำจากแม่น้ำน่านซึ่งมีระดับต่ำกว่าบึงบอระเพ็ดเป็นเมตร ๆ เพื่อเติมเต็มน้ำในบึงบอระเพ็ดที่จะต้องมีระดับน้ำที่มากพอเพื่อรักษาสมดุลสภาวะแวดล้อมหรือที่เราเรียกว่า ความหลากหลายทางชีวภาพ

 

 

อันประกอบด้วย สัตว์น้ำ พืชน้ำ และนกน้ำ ที่มีเป็นหมื่น ๆ ชนิดไม่ให้สูญพันธุ์ไป หรือที่จังหวัดพิษณุโลกก็ยังมีปริมาณน้ำค่อนข้างน้อย แม้ว่าจะมีน้ำไหลหลากในพื้นที่อำเภอที่ติดกับจังหวัดเลยที่เป็นที่สูง เช่น อำเภอวังทอง แต่ปริมาณน้ำในคลองชลประทานและแหล่งน้ำที่ใช้ในการเกษตรยังน้อยอยู่มาก โดยตนได้มีวิทยุแจ้งไปเมื่อวานนี้ (30 ก.ย. 66) ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอได้ช่วยกัน Re X-Ray สำรวจว่ามีพื้นที่เสี่ยงภัยในอำเภอและจังหวัดที่มีความเสี่ยงภัยเรื่องภัยแล้ง หรือเรื่องน้ำท่วม อยู่บริเวณไหนบ้าง

 

 

และมีแนวทางเสนอแนะว่าการแก้ไขปัญหาระยะยาว อยากให้ทำอะไร และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ทำไปแล้ว ทำอะไร เพื่อนำเข้าสู่ระบบ MOI War Room ที่จะเป็น Big Data การบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ที่กระทรวงมหาดไทยและผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ สามารถเข้าถึงได้ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการน้ำสำหรับประชาชนได้ครอบคลุมทั่วถึงในทุกมิติ เป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาว

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube