fbpx
Home
|
ข่าว

เลขาฯกกต. ยัน ปปช.ร่วมชมการนับคะแนนผล ลต.ใหม่ได้

Featured Image
เลขาฯกกต. ยัน ปปช.สามารถร่วมสังเกตการณ์การนับคะแนนผลการเลือกตั้งใหม่ได้ ย้ำ กกต.จะมีการบันทึกภาพและวิดีโอไว้ ทุกขั้นตอน เพื่อเป็นหลักฐาน

 

 

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่กกต.มีมติให้มีการนับคะแนนใหม่ 47 หน่วยเลือกตั้ง ใน 16 จังหวัด มีที่ปัญหานั้น ประชาชนจะสามารถเข้าไปสังเกตการณ์ได้หรือไม่ นายแสวงกล่าวว่า ในวันที่ 11 มิ.ย. ที่จะมีการนับคะแนนใหม่ ประชาชนสามารถเข้าไปร่วมสังเกตการณ์ได้เหมือนเดิม และในส่วนของสำนักงานกกต.เอง ก็จะมีการบันทึกภาพและวิดีโอไว้ ทุกขั้นตอน เพื่อเป็นหลักฐาน และใช้ประโยชน์ต่อไป

 

เมื่อถามถึงกรณีที่สำนักงานกกต. มีการเปลี่ยนสโลแกน จาก “สุจริต โปร่งใส และเที่ยงธรรม” เป็น “สุจริต เที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย” เหตุใดจึงตัดคำว่า “โปร่งใส” ออกไป นายแสวง กล่าวว่า “สุจริต” และ “เที่ยงธรรม” สองคำนี้ก็รวมคำว่า “โปร่งใส” ไว้อยู่แล้ว และไม่ได้แตกต่างอะไรกับตัวตนขององค์กร ไม่ว่าจะเขียนอย่างไร แต่สิ่งที่เราได้แสดงออกไปนั้น สมควร หรือมีเกียรติในตำแหน่งที่เราทำ ขอขยายความในเรื่องความโปร่งใส เนื่องจากสามารถดูได้ 2 อย่าง ส่วนแรก คือ เห็นได้ด้วยตา โดยประชาชนสามารถไปร่วมสังเกตการณ์ในหน่วยเลือกตั้ง และบันทึกภาพได้ตลอดเวลา ส่วนที่สอง คือ เรามีระบบที่สามารถตรวจสอบได้ ว่ากระบวนการที่เราทำนั้น เมื่อประชาชนมีข้อสงสัย ก็สามารถตรวจสอบได้ หรือหากมีข้อสงสัยอื่นใด ก็ขอให้ทางสำนักงานตรวจสอบได้เช่นกัน ซึ่งหากเราเดินหน้าแบบนี้ จะทำให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสุจริต เที่ยงธรรม

 

สำหรับกรณีที่ถูกสังคมมองว่า การสั่งให้นับคะแนนใหม่ เป็นเหมือนการดึงเกมทางการเมือง นายแสวง กล่าวว่า นับตั้งแต่ที่เราได้มีการเลือกตั้งในช่วงเดือนพ.ค. และมีการประกาศผลคะแนนอย่างเป็นทางการจากที่แต่ละเขตรวบรวมมานั้น เราไม่ได้หยุดนิ่ง และตระหนักดี ว่าประชาชนต้องการทราบผล แม้กฎหมาย จะให้เวลาทำงาน 60 วัน แต่ทางสำนักงานกกต. ได้เร่งรัดการทำงาน เพื่อเสนอให้กกต. ได้พิจารณาภายในสัปดาห์หน้าตามแผนงาน โดยจะพิจารณาจากกลุ่มว่าที่ ส.ส. ที่ไม่มีเรื่องร้องเรียนก่อน และมั่นใจว่า ทุกอย่างจะเป็นไปตามเวลาที่ควรจะเป็น

 

เมื่อถามถึงกรณีการถือหุ้นสื่อ ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล นายแสวงกล่าวว่า เรื่องนี้มีปัญหาทางเทคนิคอยู่ คือผู้ร้องมาร้องก่อนวันเลือกตั้ง 2 วัน ซึ่งกรณีมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ ต้องร้องภายใน 7 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง ซึ่งสำนักงานกกต. ก็ต้องพิจารณา ว่าสิ่งที่ร้องมีเหตุหรือมีมูลที่จะดำเนินการต่อไปหรือไม่ เพื่อเสนอให้กกต.พิจารณา และทางกกต.มีความเห็นว่า ให้ทำให้รอบคอบ และเสนอขึ้นไปใหม่ ส่วนกกต. จะรับไว้พิจารณาหรือไม่ เป็นอีกประเด็น และถ้ารับแล้ว จะผิดหรือถูก ก็เป็นอีกประเด็น ดังนั้น เรื่องนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของสำนักงานกกต.

 

เมื่อถามถึงกระแสข่าวว่าจะมีการดำเนินการข้อหารู้อยู่แล้ว ว่าไม่มีสิทธิ์ลงสมัครเลือกตั้งส.ส. แต่ยังคงลงรับสมัคร ตามมาตรา 151 นายแสวง กล่าวว่า เรื่องการมีลักษณะต้องห้ามของการลงสมัคร หากเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้ง ต้องส่งศาลฎีกาวินิจฉัย แต่หลังเลือกตั้งก่อนการประกาศผล ยังเป็นช่องโหว่อยู่ ซึ่งสำนักงานกกต. ก็คิดว่า หากมีการยื่น จะทำอะไรได้บ้าง ซึ่งสามารถทำคดีอาญาตามมาตรา 151 ได้ ส่วนถ้าประกาศรับรองผลไปแล้ว การให้พ้นจากส.ส. ก็ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 คือ สมาชิกรัฐสภา 1 ใน 10 เข้าชื่อ เพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ กกต. ก็สามารถยื่นได้ แต่เราต้องมีพยานหลักฐานและข้อเท็จจริง

 

เมื่อถามย้ำว่า ขณะนี้กกต.กำลังพิจารณาควบคู่ ระหว่างคดีอาญาตามมาตรา 151 และคดีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่า คดีคุณสมบัติยังพิจารณาไม่ได้ ตอนนี้พิจารณาได้เฉพาะคดีอาญา ตามมาตรา 151 แต่คดีคุณสมบัติยังทำไม่ได้ เพราะยังไม่เป็นส.ส.

 

“ตามคำร้องร้องว่าคุณไม่มีคุณสมบัติในการลงสมัครส.ส. เพราะคุณมีลักษณะต้องห้าม ที่กฎหมายกำหนด เมื่อคุณไม่มีคุณสมบัติก็จะไปสู่ ข้อหารู้อยู่แล้ว ว่าไม่มีคุณสมบัติ แต่ยังลงสมัคร ซึ่งมีความผิดตามมาตรา 151 แต่เรื่องของการพ้น เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ซึ่งตอนนี้ ยังเป็นอนาคตที่มาไม่ถึง ยังไงก็ต้องประกาศผลให้เป็นส.ส.ไปก่อน เพราะพ้นในช่วงการยื่นของศาลฎีกามาแล้ว กกต.ไม่มีอำนาจไม่ประกาศ แต่สามารถพิจารณาคดีอาญาได้” นายแสวง กล่าว

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube