Home
|
ข่าว

“นิกร” กมธ.กฏหมายลูกเตรียมแก้ไพรมารีโหวต

Featured Image
“นิกร” รับ กมธ.กฏหมายลูกเตรียมแก้ประเด็นไพรมารีโหวต อาจถูก ส.ส.โต้แย้งขัดรัฐธรรมนูญ เตรียมข้อมูลมาหักล้างแล้ว

 

นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และพรรคการเมือง กล่าวถึงแนวทางการพิจารณาแก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง ที่กรรมาธิการฯ จะเริ่มพิจารณาในวันนี้ เป็นวันแรกว่า กรรมาธิการฯ จะเริ่มลงรายละเอียด เพื่อพิจารณาการแก้ไขทันที

 

เพราะกรรมาธิการฯ หลายคน ทราบปัญหาเป็นอย่างดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะกระบวนการไพรมารีโหวตของพรรคการเมือง ในการสรรหาผู้สมัครลงเลือกตั้ง และเชื่อว่า ในการพิจารณาประเด็นดังกล่าว อาจมีข้อโต้แย้งจากสมาชิกวุฒิสภา ที่เป็นกรรมาธิการฯ โดยอ้างว่า ขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคการเมือง ก็จะต้องมีการพูดคุยกันกับสมาชิกวุฒิสภา

 

เพราะในการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว หลังกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้เสนอร่างกฎหมายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)นั้น พรรคการเมืองก็ไม่ได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาของ สนช. จนเกิดปัญหาในขั้นตอนปฏิบัติ ทำให้ คสช. ต้องออกคำสั่ง มาตรา 44 เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งกระบวนการไพรมารีโหวต และตัวแทน-สาขาพรรคประจำเขตการเลือกตั้ง

 

ส่วนที่กรรมาธิการฯ จะปรับแก้ไขขั้นตอนการทำไพรมารีโหวต ก็จะไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ไม่ได้บัญญัติกระบวนการดังกล่าวมาตั้งแต่ต้นใช่หรือไม่นั้น ตนได้เตรียมนำประเด็นดังกล่าวมาหักล้างกับสมาชิกวุฒิสภา เพราะทั้งรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ได้บัญญัติให้พรรคการเมือง ทำไพรมารีโหวตเพื่อหาผู้สมัครเลือกตั้ง และนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธาน กรธ. ก็ไม่ได้บัญญัติกระบวนการไพรมารีโหวต ไว้ในร่างกฎหมายตั้งแต่แรกเช่นเดียวกัน

 

พร้อมกันนี้ นายนิกร ยังกล่าวถึงกรณีที่กรรมาธิการฯ ได้ตั้งเป้าในการทำงาน พิจารณาแก้ไขร่างกฎหมายให้เสร็จสิ้นภายในเดือนเมษายนนี้ว่า เมื่อกรรมาธิการฯ ได้พิจารณาไปได้ระยะหนึ่งแล้ว ในช่วงปลายเดือนนี้ กรรมาธิการฯจะหารือร่วมกันว่า ควรจะปรับเพิ่มเวลาหรือเพิ่มวันในการพิจารณา เพื่อให้ทันต่อเป้าหมายในเดือนเมษายนหรือไม่ และให้สามารถนำเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาวาระ 2 หลังเปิดสมัยประชุมสภา ในปลายเดือนพฤษภาคมได้ทันที

 

ส่วนความจำเป็นในการขอเปิดประชุมสภา สมัยวิสามัญ เพื่อมาพิจารณาร่างกฎหมายการเลือกตั้งโดยเฉพาะนั้น ยังจะต้องรอกรรมาธิการฯ หารือถึงเหตุความจำเป็นก่อน และหลังจากนั้นจึงเสนอต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาต่อไป

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube