fbpx
Home
|
เศรษฐกิจ

“คีรี” ทวงหนี้ 4 หมื่นล้าน รถไฟฟ้าสายสีเขียว

Featured Image
“คีรี” จี้ รัฐบาล กทม. จ่ายหนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว อย่านิ่งเฉย ขณะตัวเลขหนี้พุ่งกว่า 40,000 ล้านบาท

 

 

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องการลงทุน และการขนส่งระบบราง ที่พรรคชาติไทยพัฒนา ตามคำเชิญของนายวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค โดยนายคีรี กล่าวว่า ปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในขณะนี้ ไม่อยากให้พูดถึงการขยายสัมปทาน แต่หน่วยงานของรัฐบาลควรหางบประมาณมาจ่ายหนี้ให้กับบีทีเอสได้แล้ว และไม่ควรมาถกเถียงกันเรื่องสัญญา เพราะทุกวันนี้บีทีเอสยังคงเดินรถในส่วนต่อขยายอย่างต่อเนื่อง ทั้งส่วนต่อขยายที่ 1? ช่วงสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่-บางหว้า และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง

 

และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่สำคัญศาลปกครองกลางได้พิพากษาว่า กทม.ต้องร่วมจ่ายหนี้ค้างชำระค่าจ้างเดินรถ และซ่อมบำรุงโครงการฯ ที่บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ได้ค้างชำระในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว 11,755 ล้านบาท นับเฉพาะยอดหนี้ที่ค้างจ่ายจนถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับจากคดีถึงที่สุด อีกทั้งบีทีเอสได้ให้เวลาในการพิจารณาเรื่องดังกล่าวกับกทม.มาระยะหนึ่งแล้ว ดังนั้นควรตัดสินใจ และแก้ไขปัญหากับเรื่องดังกล่าวโดยเร็วที่สุด

 

นายคีรี กล่าวเพิ่มเติมว่า อยากให้ทางพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, คณะรัฐมนตรี และกทม.เข้ามาตรวจสอบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และต้องตัดสินใจได้แล้วว่าจะดำเนินการกันอย่างไรต่อไป แต่บีทีเอสขอยืนยันว่าจะไม่หยุดเดินรถอย่างแน่นอน เพราะประชาชนจะเดือดร้อน และอย่าทำเป็นเพิกเฉยต่อหนี้ที่เกิดขึ้น และอย่าอ้างถึงสิ่งที่ไม่เข้าใจเพื่อยืดเยื้อหนี้ เพราะจะเป็นการกลั่นแกล้งภาคเอกชน อีกทั้ง ตัวเลขหนี้ที่เกิดขึ้นจนถึงปัจจุบันกว่า 40,000 ล้านบาทแล้ว และดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นทุกวัน หากปล่อยไว้ ภาษีของประชาชนจะเสียหาย และอย่าใช้ข้ออ้างว่าต้องการปกป้องอะไร แต่ควรหาวิธีแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น หรือหากไม่มีงบประมาณมาจ่ายหนี้ ก็ควรหาข้อเสนอมาเพื่อแก้ไข แต่ไม่ควรนิ่งเฉยรอให้หมดสัญญาสัมปทานปี 2572

ด้านปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วง บางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) หากไม่ได้มีการล้มประมูลไปเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา อาจทำให้รัฐบาลประหยัดงบประมาณได้กว่า 68,612 ล้านบาท เพราะบีทีเอสขอรับเงินสนับสนุนจากโครงการเพียงแค่ 9,675 ล้านบาท แต่ผู้ชนะการประมูลโครงการรายล่าสุดคือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ขอรับเงินสนับสนุนจากโครงการถึง 78,285 ล้านบาท

 

เรื่องนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบ และรัฐบาล ต้องไปศึกษาเรื่องที่เกิดขึ้น ว่าหากไม่มีการแก้ไขหลักเกณฑ์ หรือล้มประมูล ประเทศชาติจะได้ประโยชน์มากกว่าใช่หรือไม่ ดังนั้นต้องไปตรวจสอบว่าเรื่องที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุใดถึงเสียเวลาไป 2 ปี เพราะบีทีเอสต่อสู้ในเรื่องนี้เพราะต้องการรักษาผลประโยชน์ของประชาชน และประเทศชาติเท่านั้น

 

ส่วนปัญหาเรื่องราคาค่าโดยสาร มีแนวทางที่สามารถทำให้ราคาถูกลงได้ โดยใช้วิธีให้รัฐบาลเข้ามาสนับสนุน และประชาชนจะได้ใช้บริการด้วยอัตราค่าโดยสารที่ถูกลง แต่ไม่ควรให้เอกชนมาแบกรับ เพราะไม่สามารถทำได้ เนื่องจากมีต้นทุน ทั้งค่าจ้างพนักงาน, จัดซื้อขบวนรถไฟฟ้า, ค่าบริหาร และค่าซ่อมบำรุง ดังนั้นหากจะทำให้ค่าโดยสารถูกลงไปพร้อมกันคงทำได้ยาก

 

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube