fbpx
Home
|
ข่าว

ครม.รับทราบผลดำเนินการสำรวจแร่โพแทช อุดรฯ

Featured Image
ครม.รับทราบผลการดำเนินการสำรวจแร่โพแทช จ.อุดรธานี เผยขั้นต่อไปยื่นขอประทานบัตรจากกระทรวงอุตสาหกรรม

 

 

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.รับทราบผลการดำเนินงานของบริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หลังได้รับสิทธิสำรวจแร่โพแทชในจังหวัดอุดรธานี เพื่อดำเนินการขอประทานบัตรจากกระทรวงอุตสาหกรรมต่อไป สำหรับการดำเนินงานของบริษัท เอเชีย แปซิฟิคฯ ที่ผ่านมาประกอบด้วย

 

การรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA มีมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ เช่น การควบคุมวิธีการทำเหมืองให้มีความมั่นคงแข็งแรงไม่ให้เกิดการทรุดตัวที่เป็นอันตรายต่อโครงสร้างที่อยู่อาศัยบนผิวดิน มาตรการการจัดการกองเกลือ ฝุ่นเกลือ และน้ำเค็มของโครงการ

การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA ทางตัวแทนกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง ร้อยละ 63 เลือกที่จะให้มีการพัฒนาโครงการทำเหมืองบางพื้นที่อย่างมีเงื่อนไข กล่าวคือ มีมาตรการเพื่อลดกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน มีการจัดสรรค่าภาคหลวงแร่มาใช้พัฒนาชุมชนอย่างเหมาะสม และผู้ได้รับผลกระทบจะต้องได้รับค่าชดเชยที่เหมาะสม

 

การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 โดยล่าสุดเมื่อเดือน เม.ย.2559 จัดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีประชาชนเข้าร่วมประมาณ 2,000 คน มีผู้ไม่เห็นด้วยประมาณ 100 คน แต่ไม่ได้เป็นการลงมติ จึงไม่มีผลต่อการพิจารณาดำเนินโครงการ และในปี 2562 คณะกรรมการกำหนดเงินค่าทดแทนได้พิจารณากำหนดกรอบวงเงินค่าทดแทนกรณีมีการทำเหมืองใต้ดินให้แก่เจ้าของที่ดิน วงเงินรวม 1,200 ล้านบาท ซึ่งบริษัทเอเชีย แปซิฟิคฯ เป็นผู้รับผิดชอบ

 

โดยนางสาวรัชดา ระบุว่า พื้นที่เหมืองแร่โพแทช ของบริษัท เอเชีย แปซิฟิคฯ ที่ได้สำรวจแล้วมีจำนวน 4 แปลง อยู่ในพื้นที่อำเภอเมือง และอำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี มีพื้นที่เหมืองใต้ดินประมาณ 26,446 ไร่ และพื้นที่บนดินประมาณ 1,681 ไร่ หากเหมืองแร่โพแทชเปิดดำเนินการได้ คาดการณ์ว่าจะสามารถสกัดโพแทชเซียมคลอไรด์ได้ประมาณ 2 ล้านตันต่อปี

 

จะช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าแร่โพแทชเพื่อใช้ผลิตปุ๋ยจากต่างประเทศได้ ปัจจุบันไทยนำเข้าแร่โพแทชประมาณปีละ 800,000 ตัน มีมูลค่านำเข้าสูงถึง 7,600-10,000 ล้านบาท ทั้งนี้ มีอีก 2 บริษัทที่ได้รับประทานบัตรทำเหมืองแล้ว คือ บริษัทเหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) จังหวัดชัยภูมิ และบริษัท ไทยคาลิ จำกัด จังหวัดนครราชสีมา แต่ยังไม่ได้เปิดการทำเหมือง

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube