fbpx
Home
|
ภูมิภาค

ชป.8 ไม่หวั่นพายุมู่หลาน อ่างเก็บน้ำยังรองรับไหว

Featured Image
ชลประทานที่ 8 ไม่หวั่นพายุมู่หลาน อ่างเก็บน้ำยังรองรับไหว โฟกัสพื้นที่ลุ่มต่ำ จุดอ่อนไหวลำน้ำมูล สั่งเร่งพร่องระบายน้ำออกต่อเนื่อง

 

 

นายธีระศักดิ์ ประหยัด ผู้อำนวยการส่วนบริการจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 8 จังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ในพื้นที่ดูแลของสำนักงานชลประทานที่ 8 ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา ,บุรีรัมย์ ,สุรินทร์ และจังหวัดศรีสะเกษ จะบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำมูลเป็นหลัก

 

ซึ่งมวลน้ำที่ไหลลงลำน้ำมูลจะเป็นน้ำฝนสะสมมาจากต้นน้ำลำตะคอง บนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และน้ำฝน-น้ำท่าที่ไหลลงลำตะคอง ลำน้ำสาขาของลำน้ำมูล นอกจากนี้ จะมีมวลน้ำจากต้นน้ำลำมูล มาจากเหนือเขื่อนมูลบน และเขื่อนลำแชะ อ.ครบุรี ไหลลงมาสมทบด้วย ซึ่งสภาพน้ำในลำน้ำมูลที่ไหลผ่าน 4 จังหวัด มีระยะทางกว่า 800 กิโลเมตร ปัจจุบันมีระดับอยู่ในเกณฑ์ 60-70 % และตั้งแต่ต้นปี 2565 มีมวลน้ำฝนตกสะสมในพื้นที่ดูแล 4 จังหวัดประมาณ 900 มิลลิเมตร

 

หรือคิดเป็น 70% ของฝนเฉลี่ยทั้งปี ซึ่งอิทธิพลของพายุ “มู่หลาน” ไม่ได้ส่งผลกระทบกับ 4 จังหวัดที่ดูแล แต่ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องจากอิทธิพลของลมมรสุม ทำให้บางจุดจะมีน้ำมูลเอ่อล้นบ้างตามลักษณะสภาพภูมิประเทศของลำน้ำ ที่เป็นที่ลุ่มต่ำและเป็นคอขวด ทำให้น้ำระบายไม่ทัน แต่ได้เตรียมพร้อมติดตั้งเครื่องจักร-เครื่องมือ อย่างเช่น เครื่องผลักดันน้ำเอาไว้เพื่อช่วยผลักดันเร่งความเร็วน้ำให้ไหลผ่านได้สะดวกมากขึ้น

 

ซึ่งจากการตรวจสอบในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา มีจุดอ่อนไหวที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นที่ลุ่มต่ำรองรับน้ำ ได้แก่ เขื่อนพิมาย อ.พิมาย ชลประทานได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำไว้ 20 เครื่อง เพื่อเร่งผันน้ำลงลำน้ำมูลอย่างรวดเร็ว และอีกจุดคือพื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำลำตะคอง ลักษณะเป็นที่ลุ่มต่ำ จึงมีน้ำฝน-น้ำท่าไหลลงลำตะคองจำนวนมาก

 

ซึ่งมวลน้ำในลำตะคองก้อนนี้ จะไหลเข้าสู่ตัวเมืองนครราชสีมา ก่อนจะไหลลงลำน้ำมูล หากฝนตกหนักต่อเนื่อง จึงเสี่ยงมีมวลน้ำสะสมก้อนใหญ่ทะลักเข้าสู่เขตเศรษฐกิจของจังหวัดได้ จำเป็นต้องบริการจัดการอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำลำตะคองเอ่อท่วมบ้านเรือนประชาชน

 

ส่วนสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 5 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 77 แห่ง ในเขตดูแลของสำนักงานชลประทานที่ 8 ปัจจุบันมีน้ำจุกักเก็บประมาณ 60 % ยังสามารถรองรับน้ำได้ประมาณ 600 ล้านลูกบาศก์เมตรจากความจุอ่างฯ ทั้งหมด ประมาณ 1,800 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา

 

จุดอ่อนไหวที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด คือที่เขื่อนพิมาย อ.พิมาย ปริมาณน้ำเขื่อนเพิ่มระดับอย่างต่อเนื่อง อ่างเก็บน้ำห้วยสะกาด อ.พิมาย และอ่างเก็บน้ำลำฉมวก อ.ห้วยแถลง ที่ระดับน้ำเกินความจุกักเก็บ ต้องบริหารจัดการน้ำด้วยการพร่องน้ำเอาไว้ และระบายน้ำลงลำน้ำมูลผ่านทางประตูระบายน้ำต่างๆ เพื่อรองรับมวลน้ำที่จะมาเพิ่มอีกในช่วงฤดูฝน

 

รวมถึง ยุบฝายยางต่างๆในแต่ละพื้นที่และยกบานระบายของประตูระบายน้ำแต่ละแห่งขึ้นพ้นน้ำในพื้นที่ตอนล่าง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการไหลระบายของน้ำได้อย่างรวดเร็ว จึงขอให้พี่น้องประชาชนได้มั่นใจในการบริหารจัดการน้ำของชลประทาน และให้ติดตามสถานการณ์น้ำกับข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด หากประสบปัญหา หรือมีข้อสงสัย สามารถโทร.สอบถามได้ที่สายด่วน 1460 กรมชลประทาน ได้ตลอดเวลา

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube