fbpx
Home
|
เศรษฐกิจ

ไทย-ศรีลังกา ถก FTAรอบ5เล็งปิดจ๊อบต้นปี 67

Featured Image
พาณิชย์ เผย ไทย-ศรีลังกา เจรจา FTA รอบที่ 5 คืบหน้าเกินครึ่ง เล็งปิดจ๊อบต้นปี 67 เชื่อเป็นกลไกสำคัญช่วยให้การค้าการลงทุนสองฝ่ายขยายตัวเพิ่มขึ้น

 

 

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลการประชุมเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ศรีลังกา รอบที่ 5 ซึ่งจัดขึ้นในรูปแบบไฮบริด ทั้งการประชุม ณ กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา และผ่านระบบประชุมทางไกล ระหว่างวันที่ 26-28 มิถุนายน 2566 ว่า การเจรจามีความคืบหน้าเกินครึ่งทาง และคาดว่าจะสามารถหาข้อสรุปได้ภายในช่วงต้นปี 2567 ตามที่ทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าไว้

 

 

การประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วย การประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า และคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง 6 คณะ ได้แก่ 1) กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า 2) อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า 3) พิธีการทางศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 4) การค้าบริการ 5) การลงทุน และ 6) กฎหมาย ซึ่งได้วางแผนจัดการประชุมเจรจาอีก 4 รอบ สำหรับในปีนี้จะจัดขึ้น 3 รอบ ในช่วงเดือนสิงหาคม ตุลาคม และธันวาคม และในปี 2567 จะจัดขึ้น 1 รอบ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อเดินหน้าสรุปผลการเจรจาให้ได้ตามเป้าหมาย

 

 

นอกจากนี้ คณะผู้แทนไทยได้มีโอกาสพบหารือกับหอการค้าศรีลังกา (Ceylon Chamber of Commerce) เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจไทย สถานะการเจรจาจัดทำ FTA ของไทย รวมทั้งประโยชน์ของการจัดทำ FTA ไทย-ศรีลังกา เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจกับภาคเอกชนศรีลังกา ซึ่งพบว่า ภาคเอกชนศรีลังกาให้ความสนใจอย่างมากและเล็งเห็นถึงประโยชน์จากการจัดทำ FTA ไทย-ศรีลังกา โดยผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่มาจากภาคธุรกิจที่มีความสนใจเข้าไปลงทุนในไทย และผู้ประกอบธุรกิจนำเข้าและส่งออกของศรีลังกาที่ต้องการให้ FTA เป็นกลไกช่วยให้การค้าสองฝ่ายขยายตัวเพิ่มมากขึ้น รวมถึงอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน

 

 

ทั้งนี้ ในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับศรีลังกามีมูลค่า 358.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปศรีลังกา มูลค่า 271.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากศรีลังกา มูลค่า 87 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับในช่วง 5 เดือนแรก ปี2566 การค้ารวมสองฝ่ายมีมูลค่า 146.32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปศรีลังกา มูลค่า 99.59 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากศรีลังกา มูลค่า 46.72 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ยางพารา ผ้าผืน อัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดพลาสติก และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย และอัญมณี เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช และเคมีภัณฑ์

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube