fbpx
Home
|
เศรษฐกิจ

สะพานมิตรภาพบึงกาฬ ประตูการค้าหนุนเศรษฐกิจ เปิดปี 67

Featured Image
นายกรัฐมนตรี ไทย-ลาว วางศิลาฤกษ์ก่อสร้างสะพานมิตรภาพบึงกาฬ-บอลิคำไซ ขณะภาพรวมโครงการคืบหน้าแล้ว 57% คาดเปิดบริการปี 67 หนุนขนส่งสินค้าสู่ตลาดจีนตอนใต้

 

 

 

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยนายพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรีแห่ง สปป.ลาว เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) โดยมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม คณะผู้บริหาร กระทรวงคมนาคม กรมทางหลวง (ทล.) และ กรมขัวทาง กระทรวงโยธาธิการและขนส่งสปป.ลาวร่วมงาน

 

โดย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาล ที่มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศไทย ทั้ง 4 มิติ คือ บก ราง น้ำ และอากาศ ให้เชื่อมโยงการเดินทางสู่ภูมิอาเซียนอย่างไร้รอยต่อ ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยวในภูมิภาค ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สามารถเข้าถึงการเดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ด้วยระบบการคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพ

ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทยได้มีมติเห็นชอบให้กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวง (ทล.) ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาวแห่งที่ 5 บึงกาฬ – บอลิคำไซ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 ซึ่งต่อมา คณะรัฐมนตรี ในปี พ.ศ. 2562ได้มีมติอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าว และผู้แทนรัฐบาลทั้ง2ประเทศ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่งแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว รวมทั้งได้มีการลงนามความตกลงว่าด้วยการก่อสร้าง จังหวัดบึงกาฬ เพื่อกำหนดขอบเขตงานก่อสร้าง

 

สำหรับโครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) วงเงินก่อสร้าง 3,653,121,512 บาท ที่ร่วมลงทุนโดยรัฐบาลไทย 2,500,743,850 บาท และรัฐบาล สปป.ลาว 1,152,377,662 บาท แบ่งความรับผิดชอบการก่อสร้างจากกึ่งกลางสะพาน ปัจจุบันมีความคืบหน้าในภาพรวมทั้งฝั่งไทยและฝั่งลาวอยู่ที่ 57% คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้บริการในปี 2567

โดยแนวคิดในการออกแบบโครงสร้างสะพานได้มีการนำ “แคน” ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีท้องถิ่น มาใช้ในการกำหนดรูปแบบทางสถาปัตยกรรม สะท้อนให้เห็นถึงความสนุก รื่นเริง ความเป็นมิตรไมตรี ความคุ้นเคย และความเป็นกันเองในวัฒนธรรมของประเทศไทย และ สปป.ลาว ส่งเสริมสัมพันธไมตรีอันดีระหว่างสองประเทศ สร้างความเจริญทางด้านสังคม และเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม

 

สำหรับสะพานดังกล่าวยังมีระบบเฝ้าติดตามพฤติกรรมสะพาน เพื่อใช้สำหรับติดตามสภาพโครงสร้างของสะพานได้ตลอดเวลาผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ทำให้การตรวจสอบสะพานง่ายขึ้น ลดภาระการเข้าไปตรวจสอบด้วยคน และสามารถช่วยในการตัดสินใจในการเลือกมาตรการดำเนินการกับโครงสร้างสะพาน

 

โครงการแล้วเสร็จจะสร้างประโยชน์การพัฒนาพื้นที่บริเวณชายแดนของทั้งสองประเทศ ทั้งพื้นที่ จ.บึงกาฬ และ แขวงบอลิคำไซ ให้เป็นประตูการค้าที่สำคัญในการส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ตลอดจนอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าจากไทยไปสู่ตลาดจีนตอนใต้และเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าจากภาคกลางของ สปป.ลาว สู่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี เพื่อขนส่งทางทะเลไปยังภูมิภาคอื่นต่อไป

 

นอกจากนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของโครงการด้านการขนส่ง ภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) และยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง หรือ ACMECS (แอ็ก-เม็กส์) เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยง 5 ประเทศ ได้แก่ เมียนมา-ไทย-สปป.ลาว-เวียดนาม-กัมพูชาอีกด้วย

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

 

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube