fbpx
Home
|
คลิปข่าวทั่วไป

ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ พอไหมกับรายจ่าย

เริ่มแล้วกับค่าแรงขั้นต่ำใหม่ 1 ตุลาคม 2565 หลังจากกระทรวงแรงงานมีมติปรับค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้นเป็น 328-354 บาท

 

 

ซึ่งหากย้อนดูสถิติในอดีตตั้งแต่ปี 2554 -ปัจจุบัน พบว่า กระทรวงแรงงานมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมาแล้ว 6 ครั้ง ซึ่งฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส ระบุว่า
หากไม่นับปี 2555

 

ที่มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในจังหวัดกรุงเทพฯ และปริมณฑลจาก 215 บาท/วัน เป็น 300 บาท/วัน จะเห็นได้ว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 2565 ที่ปรับขึ้น 6.6% นั้นมากกว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในอดีตที่ส่วนใหญ่ปรับขึ้นราว 2%-4%

 

 

ดังนั้น การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ ถือเป็นแรงหนุนการบริโภคในประเทศให้มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง หลังจากที่ไทยเริ่มการกลับมาเปิดประเทศ และการผ่อนคลายมาตรการโควิด-19

 

 

แต่เมื่อถามผู้นำแรงงาน มองอย่างไรกับค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับขึ้น และเพียงพอหรือไม่กับรายจ่ายและค่าครองชีพที่ว่ากันว่า แพงขึ้นทุกวัน สำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น. คุยกับ นายชาลี ลอยสูง ที่ปรึกษาคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย บอกว่า กระทรวงแรงงานได้ทำตามที่เคยบอกกับพี่น้องแรงงานในการผลักดันการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ

 

ซึ่งในแต่ละจังหวัดจะมีอัตราการปรับขึ้นที่ไม่เท่ากัน การปรับขึ้นครั้งนี้ถามว่าเพียงพอกับรายจ่ายในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ หนี้ครัวเรือนของไทยยังสูง หากมองภาพรวมแล้วพูดตามตรงว่าไม่เพียงพอ

 

แต่ยังดีกว่าไม่มีการปรับขึ้น เพราะปรับเท่ากับว่า แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้นพอใช้จ่ายประจำวัน และหากคิดเป็นอัตราเงินเดือน พอตัวเลขเพิ่มขึ้น คนทำงานจะรู้สึกมีกำลังใจแม้จะไม่มากมายนัก ยังมีแรงที่จะสู้กับงานต่อไป เพราะผู้ใช้แรงงาน ทั่วประเทศนาน 2 ปีกว่าแล้ว ที่ไม่ได้ปรับค่าแรง เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19

 

ทั้งนี้ การปรับขึ้นย่อมมีผลกระทบสิ่งที่ห่วงคือราคาสินค้าดังนั้น ต้องขอให้รัฐบาลมีกลไกควบคุมราคาสินค้าที่จะขยับขึ้นตามไปอีกด้วย เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานอยู่รอดได้ ในภาวะค่าครองชีพที่พุ่งสูง

ขณะที่ ภาคเอกชน พร้อมสำหรับการใช้ค่าแรงใหม่ โดย นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) บอกว่า ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรม ภาคเอกชนมีการปรับขึ้นค่าแรงใหม่ ตามประกาศของรัฐบาล แต่ภาคอุตสาหกรรมยังกังวลเรื่องปัญหาเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น และค่าแรงที่เพิ่มขึ้นประเมินว่าจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการสูงขึ้นประมาณ 2-5%

 

ต่างกันตามสัดส่วนแรงงาน ซึ่งภาคอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานอย่างเข้มข้นก็จะยิ่งได้รับผลกระทบมาก อาทิ อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป อาหารกระป๋อง อาหารแช่แข็ง ในขณะที่อุตสาหกรรมที่ใช้ระบบออโตเมชั่น หรือใช้เครืองจักรเป็นส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบลดหลั่นกันไป

 

นอกจากนี้ ภาคเอกชน มีความเห็นว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำควรเป็นไปตามข้อตกลงเดิม คือ เริ่มปรับขึ้นในเดือนมกราคม 2566 เพื่อให้ภาคเอกชนได้เตรียมพร้อมรับมือกับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่กำลังรับมือกับต้นทุนอื่นๆ ที่ได้ปรับขึ้นไปแล้ว ทั้ง ราคาพลังงาน วัตถุดิบและค่าขนส่ง

 

ดังนั้นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนับว่ามีทั้งผลดีและผลเสีย แรงงานมีรายได้เพิ่ม แต่ในทางกลับกัน ผู้ประกอบการต้นทุนเพิ่ม ซึ่งอาจเป็นข้ออ้างให้ปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นอีก กระทบต่อค่าครองชีพนั่นเอง

 

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube