fbpx
Home
|
ข่าว

“วราวุธ” ชี้ลดเพดานอายุเด็กทำผิดไม่ใช่คำตอบสุดท้าย

Featured Image
บอร์ดเด็ก จัดทำแผนคู่มือกลางสแกนเด็กกลุ่มเสี่ยง “วราวุธ” ชี้ การลดเพดานอายุเด็กที่กระทำผิด ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย ในการป้องกันปัญหา

 

 

 

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติครั้งที่ 1/ 2567 ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางการดำเนินการลงโทษผู้กระทำผิดที่เป็นเด็กและเยาวชนอายุ ซึ่งที่ผ่านมาหลายฝ่ายพูดถึงการลดเพดานอายุเด็กที่กระทำผิดให้ต่ำลงจากเกณฑ์เดิมที่กำหนดไว้ที่ 12 ปี ที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่าการลดเพดาอายุเด็กไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในการป้องกันปัญหา เพราะการลดอายุต่ำกว่า 12 ปี เป็น 9 ปี10 ปี11ปี ไม่สามารถการันตีได้ว่าเมื่อลดอายุแล้วเด็กจะไม่ก่อเหตุ ในอนาคตเราอาจจะเห็นผู้กระทำผิดต่ำกว่า 9 ปีก็ได้ ยืนยันการลดอายุไม่ใช่เป็นการแก้ไขปัญหา

 

 

นายวราวุธ กล่าวว่า ที่ประชุมได้พูดถึงแนวทางการป้องกันโดยนำข้อมูลของแต่ละพื้นที่มาร่วมกันดูแลผ่านคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัด เป็นหน้าที่ที่แต่ละจังหวัดต้องไปสแกนเด็กกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง รวมถึงในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการบูลลี่ การใช้กำลังรังแก เด็กกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ ผู้ใหญ่แต่ละพื้นที่ ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย

 

 

รวมถึงพม.จะต้องแสกนเด็กกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้และเข้าไปร่วมกันป้องกัน ด้วยการพูดคุยกับตัวเด็ก รวมถึงครอบครัว การดูถึงสภาพครอบครัว เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กกลุ่มนี้ก้าวข้ามเส้นขีดแบ่งจากเด็กกลุ่มเสี่ยงกลายเป็นเด็กกระทำความผิด หัวใจสำคัญคือการป้องกันปัญหา การสแกนแต่ละพื้นที่ การทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียน พม. ที่ต้องเข้าถึงเด็กแต่ละคนเพื่อป้องกันความรุนแรงรูปแบบต่างๆ จะเกิดขึ้น

 

เมื่อถามว่า จะสามารถประเมินได้อย่างไรว่าการสแกนเด็กดังกล่าวจะทำให้เด็กกลุ่มเสี่ยงไม่กลายเป็นเด็กกระทำผิดก่อความรุนแรง นายวราวุธ กล่าวว่า การได้เข้าไปพูดคุยกับเด็กแต่ละเคสแต่ละครอบครัว ไม่มีอะไรสามารถการันตีได้ว่าจะไม่เกิดอุบัติเหตุ แต่โอกาสที่จะเกิดเชื่อจะน้อยลงหากเราสามารถปรับความคิดของเด็ก ไม่ว่าจะผ่านการพูดคุยกับผู้ปกครอง การพูดคุยกับตัวเด็กเองหรือเพื่อนรอบตัวเด็ก เพื่อบรรเทาสถานการณ์ลง อย่างน้อยเราจะได้เรียนรู้ว่าเด็กแต่ละคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงมีแนวโน้มที่จะเป็นอย่างไร

 

หากแนวโน้มดีขึ้นก็จะได้โฟกัสกับกลุ่มเด็กที่มีความเสี่ยงที่มีแนวโน้มจะข้ามเส้นกลายเป็นผู้กระทำผิด ทั้งนี้รวมไปถึงการใช้สารเสพติดด้วย เพราะวันนี้ก็มีความสุ่มเสี่ยงมากมาย เป็นสิ่งที่ในที่ประชุมได้มีการพูดคุยหารือถึงแนวทางการดำเนินการรวมฐานข้อมูลเพื่อจัดทำแผนการทำงานที่เป็นมาตรฐานหรือคู่มือกลางในการดำเนินการร่วมกันของทุกองค์กรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ผ่านมาเรายังไม่มีการจัดทำแผนการทำงานที่เป็นมาตรฐานดังกล่าว โดยมอบหมายให้กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลของทุกหน่วยงาน เพื่อจัดทำแผน

 

 

นายวราวุธ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามคณะกรรมการคุ้มครองครองเด็กจังหวัดซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ได้ขอให้ดำเนินการทันทีในการลงไปสแกนเด็กแต่ละพื้นที่ จะดำเนินการทันที ส่วนผลนั้นอาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการพูดคุยเด็กแต่ละกลุ่ม ซึ่งจะมีการแบ่งเด็กออกเป็น 3 กลุ่มคือ 1. เด็กกลุ่มเสี่ยง 2.เด็กที่กระทำความผิดแล้ว และ 3.เด็กที่กระทำผิดแล้วและมีการส่งตัวเข้ารับการดูแลในบ้านพักเด็กและครอบครัว หรือแต่ละหน่วยงาน ซึ่งแต่ละกลุ่มจะต้องป้องกันไม่ให้เพิ่มจำนวนมากขึ้น

 

 

เมื่อถามถึง กรณีเด็กที่ก่อเหตุมักจะถูกโยงว่าเป็นเด็กพิเศษ มีการกำหนดเกณฑ์อย่างไรหรือไม่ว่าลักษณะไหนเป็นเด็กพิเศษ นายวราวุธ กล่าวว่า เป็นประเด็นละเอียดอ่อน ซึ่งเวลาเกิดเหตุเราจะเห็นหลายครั้งจะมีการประเมินสภาพจิตใจเด็กและดูว่าเป็นเด็กพิเศษหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องของนักจิตวิทยา ทีมสหวิชาชีพเป็นผู้ประเมิน คงไม่สามารถอ้างได้ว่าสภาพจิตใจไม่ปกติกลายเป็นเด็กพิเศษ เชื่อว่านักจิตวิทยา ทีมสหวิชาชีพมีมาตรการในการประเมินว่าเด็กคนนั้นๆ มีสภาพจิตเป็นอย่างไร และสามารถบ่งชี้ว่าเป็นเด็กพิเศษหรือไม่

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube