fbpx
Home
|
ข่าว

ครม.รับทราบการขอปรับปรุงข้อสั่งการนายกฯ

Featured Image
ครม.รับทราบการขอปรับปรุงข้อสั่งการนายกฯในการประชุม ศบค. เรื่องการจัดซื้อชุดตรวจ ATK

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.) รับทราบ การขอปรับปรุงข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีในการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด-19) ครั้งที่ 12/2564 และการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 ส.ค.64 โดยขอแก้ไขข้อความจากเดิมระบุในสรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด-19) ครั้งที่ 12/2564 หน้าที่ 17 ข้อ 6 ว่า “การเร่งดำเนินการจัดหาชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบแอนติเจน หรือ ATK ที่ผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO รวมทั้งต้องมีความแม่นยำในการตรวจ เพื่อนำไปสู่การรักษาที่ทันท่วงที และพร้อมจัดส่งให้ได้ภายในเวลาที่กำหนด” เป็นข้อความว่า “ในเรื่องการจัดหาซื้อชุดตรวจ ATK นี้ ขอให้สาธารณสุขเร่งดำเนินการให้ได้โดยเร็ว หากมีปัญหาความขัดแย้งอยู่ในปัจจุบัน ขอให้เร่งแก้ไขปัญหาให้ดีที่สุด”

สำหรับการแก้ไขข้อสั่งการครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ปรับปรุงแก้ไขข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี โดยฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ได้พิจารณาทบทวนสรุปผลการประชุมดังกล่าว และตรวจสอบจากบันทึกการประชุม ปรากฏข้อเท็จจริง ว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการในที่ประชุมมีข้อความดังนี้ คือ “ในเรื่องการจัดหาซื้อชุดตรวจ ATK นี้ ขอให้สาธารณสุขเร่งดำเนินการให้ได้โดยเร็ว หากมีปัญหาความขัดแย้งอยู่ในปัจจุบัน ขอให้เร่งแก้ไขปัญหาให้ดีที่สุด”

 

ครม.อนุมัติอัตราค่าเครื่องมือประจำตัวผู้เรียนเฉพาะอาชีพของนักเรียนสายอาชีพ อาชีวศึกษาต่อคน ตามประเภทวิช ปวช. ปี 2562

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติอัตราค่าเครื่องมือประจำตัวผู้เรียนเฉพาะอาชีพของนักเรียนสายอาชีพ อาชีวศึกษาต่อคน ตามประเภทวิชา ในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ หรือ ปวช. ปี 2562 ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจำนวน 10 ประเภทวิชา ตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 เป็นต้นไป ดังนี้

ประเภทวิชาอุตสาหกรรมอัตราค่าเครื่องมือ 2,000 บาทต่อคนต่อปีการศึกษา, พาณิชยกรรม 1,000 บาท, ศิลปกรรม 1,000 บาท, คหกรรม 1,200 บาท, เกษตรกรรรม 1,600 บาท, ประมง 1,200 บาท, อุตสาหกรรมสิ่งทอ 1,200 บาท, เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 1,800 บาท, อุตสาหกรรมท่องเที่ยว 1,200 บาท และ อุตสาหกรรมบันเทิงและดนตรี 1,000 บาท

ทั้งนี้เพื่อให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะฝีมือให้เต็มศักยภาพ ฝึกประสบการณ์อาชีพได้อย่างเต็มที่ต่อเนื่องตลอดหลักสูตร เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาด้านอาชีวศึกษา และยังช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง สร้างแรงจูงใจให้มีการเรียนต่อสายอาชีวศึกษาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นพลังสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืน

โดยประมาณการค่าใช้จ่ายในปีการศึกษา 2564 จำนวนทั้งสิ้น 383.209 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าเครื่องมือนักเรียนสายอาชีพระดับปวช.ปีที่ 1 ในสถานศึกษาของรัฐ 429 แห่ง จำนวน 275.233 ล้านบาท และสถานศึกษาของเอกชน 445 แห่ง จำนวน 107.976 ล้านบาท

 

ครม.เห็นชอบปรับปรุงโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการของสำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการปรับปรุงโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการของสำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรีดังนี้ คือ เห็นชอบการจัดโครงสร้างแบ่งส่วนราชการใหม่ของสำนักงบประมาณ โดยให้ยกเว้นการปฏิบัติตามมติครม. เมื่อวันที่ 4 เม.ย.60 เกี่ยวกับการจัดตั้งหน่วยงานราชการส่วนกลางในภูมิภาคต้องไม่มีหน่วยงานของกรมที่เป็นราชการส่วนภูมิภาค หรือราชการส่วนกลางในภูมิภาค และมติครม. เมื่อวันที่ 2 ม.ค.62 เกี่ยวกับการจัดตั้งหน่วยงานเพิ่มใหม่ต้องมีข้อเสนอให้ยุบเลิกหรือยุบรวมหน่วยงานที่มีอยู่เดิม เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนทั้งด้านภารกิจและงบประมาณ และรับทราบการกำหนดตัวชี้วัดสำคัญเพื่อวัดความสำเร็จการแบ่งส่วนราชการใหม่

เห็นชอบให้มีการทบทวนและปรับบทบาท ภารกิจ หน้าที่และอำนาจและโครงสร้างของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อให้สอดรับกับบทบาทภารกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ภายใน 1 ปี นับแต่กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงบประมาณมีผลบังคับใช้  และเห็นชอบให้เพิ่มหลักการการจัดตั้งหน่วยงานเพิ่มใหม่ของส่วนราชการให้มีข้อเสนอยุบเลิกภารกิจหรือยุบรวมหน่วยงานของส่วนราชการอื่น (X-in, Y-out) สำหรับกรณีภารกิจที่มี Value Chain เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงหลายส่วนราชการ ซึ่งไม่อาจพิจารณาเฉพาะส่วนราชการใดส่วนราชการหนึ่งได้

ทั้งนี้คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ ก.พ.ร. ได้ประชุมเมื่อวันที่ 31 พ.ค.64 พิจารณาคำขอการปรับปรุงโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการของสำนักงบประมาณ แล้วมีสาระสำคัญดังนี้ คือ สำนักงบประมาณจำเป็นต้องจัดโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการภายในใหม่ให้รองรับบทบาทภารกิจที่เปลี่ยนแปลงไปจากภาระงานที่เพิ่มขึ้นในกระบวนการจัดทำงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. ซึ่งเป็นหน่วยรับงบประมาณตรงจำนวน 7,848 แห่ง และสนับสนุนการจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม ที่เน้นการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการงบประมาณของท้องถิ่น รวมถึงการบูรณาการในการบริหารจัดการงบประมาณในเชิงการพัฒนาระดับพื้นที่ ตั้งแต่ระดับภาค ลงไปสู่กลุ่มจังหวัด และอปท. ที่เชื่อมโยงครอบคลุมในทุกมิติ และเชื่อมโยงกับนโยบายรัฐบาลและแผนระดับชาติในรูปแบบของ One Plan อย่างมีประสิทธิภาพได้

นอกจากนี้ในส่วนของการปรับหน้าที่และอำนาจและโครงสร้างของสำนักงบประมาณ โดยจัดตั้ง สำนักงานงบประมาณเขต เพิ่มขึ้นจำนวน 7 เขต จากที่มีอยู่เดิม 11 เขต ได้แก่สำนักงานงบประมาณเขตที่ 12-18 เป็นราชการส่วนกลางในภูมิภาค เพื่อรองรับภารกิจที่เพิ่มขึ้น ที่ประชุม ก.พ.ร. ยังเห็นชอบให้สำนักงบประมาณกำหนดตัวชี้วัดสำคัญ เพื่อวัดความสำเร็จการจัดโครงสร้างส่วนราชการใหม่ และให้รายงาน ก.พ.ร. เมื่อครบกำหนด 1 ปี  พร้อมเห็นชอบให้มีการทบทวนและปรับบทบาทภารกิจหน้าที่และอำนาจ และโครงสร้างของ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อให้สอดรับกับบทบาทภารกิจที่เปลี่ยนแปลงไปภายใน 1 ปี นับแต่กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงบประมาณมีผลบังคับใช้

 

ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผู้นำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรทั้งหมดหรือแค่บางส่วน

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผู้นำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรทั้งหมดหรือแค่บางส่วน ซึ่งสาระสำคัญ คือ เป็นการขยายระยะเวลาการยกเว้นดังกล่าวโดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.63 ถึงวันที่ 30 ก.ย.64

ซึ่งที่ผ่านมากฎกระทรวงกำหนดให้ผู้นำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรทั้งหมดหรือแต่บางส่วนฉบับเดิม  ได้ประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายแล้วโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 21 ก.ค.63 ใช้สำหรับของที่นำเข้ามาเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.63 ถึงวันที่ 30 ก.ย.63

อย่างไรก็ตามเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องและรุนแรงยิ่งขึ้น ถือเป็นพฤติการณ์พิเศษ กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว จึงเห็นควรขยายระยะเวลาการใช้บังคับกฎกระทรวงฯดังกล่าวออกไปเพื่อให้ผู้นำของเข้ามาหลังวันที่ 30 ก.ย.63 และยังไม่สามารถปฏิบัติพิธีการผ่านแดนหรือถ่ายลำได้ทันภายในระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรตกเป็นของแผ่นดินภายหลังพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่เข้ามาในราชอาณาจักร ทั้งนี้เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการที่นำของเข้ามาเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำ ตลอดจนการขนส่งระหว่างประเทศ

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube