fbpx
Home
|
เศรษฐกิจ

กนง.คาดศก.ชะลอลงมากจากมาตรการเข้มโควิด

Featured Image
กนง. มอง เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอลงมาก จากมาตรการเข้มคุมโควิด-19 ขณะเงินกู้ 5 แสนล้านบาท พยุงกำลังซื้อ ลดทอนผลกระทบจากการระบาด คาด จีดีพีปีนี้โต 0.7% ปีหน้า 3.7%

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ฉบับย่อ ครั้งที่ 5/64 วันที่ 4 สิงหาคม 2564 เผยแพร่วันนี้ (18 สิงหาคม) โดยระบุช่วงหนึ่งว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอลงมากจากมาตรการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุปสงค์ในประเทศ คณะกรรมการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 0.7 และ 3.7 ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ ปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เป็นผลจากการบริโภคภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบมากขึ้นในปีนี้ และแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับลดลงมากในปีหน้า ขณะที่ตลาดแรงงานมีแนวโน้มเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้างในภาคบริการ และผู้ประกอบการอาชีพอิสระที่มีรายได้ลดลง

อย่างไรก็ดีเศรษฐกิจไทยยังมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจาก (1.)แนวโน้มการใช้จ่ายภาครัฐที่สูงขึ้นจาก พ.ร.ก.กู้เงินฉบับใหม่วงเงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะช่วยพยุงกำลังซื้อของครัวเรือนและลดทอนผลกระทบจากการระบาดระลอกล่าสุดได้ส่วนหนึ่ง และ (2) การส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดีตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ของประเทศคู่ค้า แม้ภาคการผลิตและภาคส่งออกบางส่วนยังเผชิญกับข้อจำกัดด้านอุปทาน เป็นต้น

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังเผชิญกับความเสี่ยง จาก (1) สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิดทั้งในและต่างประเทศที่มีแนวโน้มรุนแรง โดยเฉพาะการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิดที่ลดทอนประสิทธิภาพของวัคซีน รวมถึงความล่าช้าในการกระจายวัคซีน ซึ่งอาจทำให้ปัญหาสาธารณสุขยืดเยื้อและรุนแรงขึ้น

(2) ฐานะทางการเงินของธุรกิจ โดยเฉพาะภาคบริการที่เปราะบางมากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การปิดกิจการ และเลิกจ้างแรงงานจำนวนมาก และ (3) ปัญหาข้อจำกัดด้านอุปทาน โดยเฉพาะผลกระทบจากการระบาดในโรงงานและขาดแคลนวัตถุดิบชั่วคราวที่คาดว่าจะคลี่คลายได้ในครึ่งแรกปี 65 อาจรุนแรงและยืดเยื้อ จนส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกของไทยมากกว่าที่คาด

ทั้งนี้ คณะกรรมการเห็นว่า โจทย์สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจ ในปัจจุบัน คือ การเร่งควบคุมการระบาดและป้องกันการระบาดของโรค โดยเฉพาะการเร่งจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและกระจายวัคซีนให้ทั่วถึงทันการณ์ ซึ่งจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยให้อยู่ในระดับที่ระบบสาธารณสุขรองรับได้ และสามารถผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยกลับมาฟื้นตัว

ขณะที่มาตรการการคลัง ควรเร่งเยียวยาและพยุงเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์มากขึ้น โดยดูแลการจ้างงานและภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นในจุดที่เปราะบางอย่างเพียงพอและทันการณ์ ทั้งนี้ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอาจปรับเพิ่มขึ้น ต่อเนื่องและสูงกว่าเพดานที่ 60% แต่จะไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการคลังอย่างมีนัยสำคัญ หากเม็ดเงินดังกล่าวถูกนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงสูงในระยะสั้น รวมถึงใช้เพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจไทย จะเอื้อสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในระยะยาวปรับลดลง

ส่วนนโยบายการเงิน ต้องสนับสนุนให้ภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลายต่อเนื่อง ขณะที่มาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ ควรเร่งปรับปรุงให้มีประสิทธิผลและเกิดผลเป็นวงกว้างขึ้น แม้ที่ผ่านมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูช่วยให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น และมาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือนจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ได้บางส่วน แต่การระบาดระลอกล่าสุดมีความเสี่ยงที่จะยืดเยื้อและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากกว่าคาด จึงต้องเร่งกระจายสภาพคล่องเพิ่มเติม และผลักดันให้สถาบันการเงินลดภาระหนี้แก่ลูกหนี้อย่างเป็นธรรม เช่น การเลือกวิธีปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ในระยะยาว เป็นต้น

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube