fbpx
Home
|
อาชญากรรม

ย้ำ! บุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมาย

Featured Image
5 หน่วยงานย้ำบุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมาย หากเจอผู้สูบหรือจำหน่ายมีอำนาจจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมาย ขู่ฟันตร.หากละเว้นเรียกรับผลประโยชน์

 

 

พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่างรวม 5 หน่วยงานประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค, กรมศุลกากร, กรมการค้าต่างประเทศ, กรมควบคุมโรค และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมแถลงข่าวเพื่อสร้างความรับรู้ความเข้าใจกรณีการบังคับใช้กฎหมายกับบุหรี่ไฟฟ้าและพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า

 

เนื่องจากมีการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายเกี่ยวกับ บุหรี่ไฟฟ้า การสูบ – ครอบครอง ไม่ได้นำเข้า – ผลิต – ขาย ผิดกฎหมาย หรือไม่ โดยได้ชี้แจงข้อเท็จจริงและเน้นย้ำกรณีผู้ขายหรือผู้ให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือสคบ.ได้มีคำสั่งที่ 9/2558

 

เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งมีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกายหลายชนิด รวมทั้งโลหะหนักที่เป็นสารก่อมะเร็ง และมีปัญหาต่อระบบทางเดินหายใจส่งผลกระทบเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้น ผู้ใดขายหรือให้บริการ มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

กรณีผู้นำเข้าบุหรี่ไฟฟ้ามีความผิดประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่ และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 5 เท่า ของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ กับให้ริบบุหรี่ไฟฟ้า

 

รวมทั้งสิ่งที่ใช้บรรจุ และพาหนะใดๆ ที่ใช้ในการบรรทุกสินค้าบุหรี่ไฟฟ้านั้นด้วย นอกจากนั้นยังเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจสั่งริบของนั้นก็ได้ ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษา หรือไม่ และกรณีผู้ครอบครองหรือรับไว้ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้า อันเป็นสินค้าห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร จะมีความผิดฐาน ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ หรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่เข้ามาในราชอาณาจักร

 

โดยยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง ตามมาตรา 246 วรรคหนึ่ง ของ พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ทั้งนี้ เมื่อบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามแม้จะไม่มีเจตนาหรือไม่รู้ว่าเป็นของมีความผิด ก็ต้องถูกริบให้ตกเป็นของแผ่นดินและนำไปทำลายตามกฎหมายของศุลกากร ซึ่งสคบ. จะดำเนินคดีกับผู้ลักลอบจำหน่าย หรือให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า บารากู่ หรือบารากู่ไฟฟ้า ทุกราย หากผู้ใดพบเห็นการจำหน่ายหรือให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า บารากู่ หรือบารากู่ไฟฟ้า

 

พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวย้ำว่า พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้กำชับให้มีการเร่งรัดกวาดล้างจับกุมโดยเน้นหนักไปที่ผู้ค้าผู้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าและกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปผู้สูบบุหรี่หรือพบว่ามีการจำหน่ายหรือครอบครอง สามารถดำเนินการจับกุมและบังคับใช้กฎหมายได้หากพบการกระทำผิดไม่ดำเนินการใดๆก็จะถือว่ามีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และกรณีที่เข้าไปเรียกรับผลประโยชน์ตามที่ปรากฎเป็นข่าวก็จะถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

 

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube