Home
|
บันเทิง

Netflix ชวน 4 สตรีตัวแทนภูมิภาค ผู้อยู่เบื้องหลังผลงานบนหน้าจอ มาแชร์สิ่งที่ครีเอเตอร์หญิง ‘ต้องมี’ เพื่อความสำเร็จในวงการ

Featured Image

ไพลิน วีเด็ล ผู้กำกับสารคดีหญิงไทย คุ้นเคยดีกับการหาทางก้าวข้ามอุปสรรค เราจะเห็นได้จากผลงานสารคดีของเธอเรื่อง ความหวังแช่แข็ง: ขอเกิดอีกครั้ง (Hope Frozen: A Quest To Live Twice) ผลงานจากประเทศไทยเรื่องแรกใน Netflix ที่คว้ารางวัล International Emmy Award การสร้างผลงานเรื่องนี้ต้องใช้เวลาหลายปี และต้องเจอกับการปฏิเสธนับครั้งไม่ถ้วน ก่อนจะเริ่มกวาดรางวัล ซึ่งถ้าย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น ตัวผู้สร้างที่สำเร็จการศึกษาในสาขาชีววิทยาก่อนจะผันตัวมาเป็นช่างภาพข่าว ก็ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนเมื่อเธอเริ่มฝันถึงการก้าวมาเป็นผู้สร้างภาพยนตร์

“ฉันโตในประเทศไทย เวลากูเกิลหาข้อมูลผู้กำกับที่เป็นผู้หญิงไทย ฉันพบว่าเรามีผู้กำกับหญิงไทยอยู่ไม่ถึง 10 คน ฉันจำได้ว่าตัวเองรู้สึกโดดเดี่ยว ไม่รู้ว่าจะหาแนวร่วมหรือคนที่จะให้คำแนะนำได้ยังไง” ไพลิน กล่าวพร้อมเสริมว่า การส่งเสริมคนทำงานเบื้องหลังที่เป็นผู้หญิงให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงที่อยากเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ก้าวเข้ามาสู่วงการนี้มากขึ้น

นี่เป็นแค่หนึ่งในข้อมูลจากศิลปินและผู้สร้างจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เข้าร่วมการสนทนาออนไลน์ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2565 เพื่อฉลองเดือนแห่งวันสตรีสากล นอกจากไพลินแล้ว ยังมี มาริสสา อานิตา  นักแสดงชาวอินโดนีเซีย ลีน่า แทน โปรดิวเซอร์ชาวมาเลเซีย และ ทันย่า ยูซอน นักเขียนบทและผู้อำนวยการผลิตชาวฟิลิปปินส์  มาร่วมพูดคุยอย่างสนุกสนานและมีชีวิตชีวา โดยมี จานีน สไตน์ ผู้อำนวยการกองบรรณาธิการจาก ContentAsia รับหน้าที่ดำเนินการสนทนา

ผลงานเกี่ยวกับผู้หญิงเพื่อผู้หญิงโดยผู้สร้างที่เป็นผู้หญิง

ผู้เข้าร่วมการสนทนาเห็นตรงกันว่า เมื่อผู้หญิงเป็นผู้สร้างผลงาน เรื่องราวที่ถ่ายทอดเกี่ยวกับผู้หญิงจะมีความละเอียดอ่อนและซับซ้อนมากขึ้น ลีน่า ผู้สร้างรายการทีวี 3R สุดล้ำเพื่อส่งเสริมความมั่นใจให้กับหญิงสาวในมาเลเซีย เล่าถึงความยากลำบากในการรับมือกับความคิดเห็นแบบอนุรักษ์นิยมของผู้คนในสังคม เมื่อเจาะลึกประเด็นอย่างการตั้งครรภ์ในช่วงวัยรุ่น และความรุนแรงทางเพศ ว่า “เป็นการต่อสู้ที่ยากลำบากสำหรับผู้สร้างภาพยนตร์ในมาเลเซีย” ซึ่งผลงานดราม่าเกี่ยวกับผู้หญิงของเธออย่าง เรื่องเล่าสาวออนไลน์ (Sa Balik Baju) ได้เริ่มสตรีมใน Netflix เมื่อปี 2564 “ฉันรู้สึกขอบคุณที่ตอนนี้มีช่องทางอย่าง Netflix มาช่วยเผยแพร่โปรเจกต์ของเรา ซึ่งเจาะลึกประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับผู้หญิง นอกเหนือไปจากทีวีที่ออกอากาศให้ดูฟรีอย่างเดียว” เธอกล่าวเสริม

มาริสสา ซึ่งนำแสดงในผลงานเรื่อง อาลีกับราชินีแห่งควีนส์ (Ali & Ratu Ratu Queens) และ ปัจจุบันกำลังฝึกปรือฝีมือเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้เขียนบท ได้เรียกร้องให้มีการเสริมสร้างทักษะสำหรับผู้สร้างภาพยนตร์ในปัจจุบันที่เป็นผู้หญิงและผู้หญิงที่อยากจะเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ในอนาคต “ฉันอยากเห็นผู้เขียนบทและผู้กำกับที่มีมุมมองเกี่ยวกับผู้หญิงเพิ่มมากขึ้น” เธอกล่าว ในขณะที่ ทันย่า ผู้อยู่เบื้องหลังซีรีส์แอนิเมชันเรื่อง เตรเซ ฆาตกรเงา (Trese) ส่งเสริมให้ผู้หญิงที่ทำงานเบื้องหลังพยายามเล่าเรื่องราวให้ออกนอกขอบเขตเดิมมากขึ้น เพื่อให้มีเรื่องราวหลากหลายรูปแบบ

คำแนะนำสำหรับผู้หญิง

การปูทางของสตรีผู้อยู่เบื้องหลังหลายๆคน จะทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์ที่เป็นผู้หญิงในอนาคตไม่ต้องรู้สึกโดดเดี่ยวเหมือนอย่างที่ไพลินเคยรู้สึก “คุณต้องหาเพื่อนร่วมทางค่ะ” ไพลิน กล่าว “คนเหล่านี้จะเป็นกำลังใจให้คุณสู้ต่อไป ถ้าไม่มีพวกเขา คุณก็จะไปต่อไม่ได้”

ลีน่า กล่าวว่า “สิ่งสำคัญที่สุดคือคุณต้องเชื่อมั่นในตัวเอง” จากประสบการณ์ของเธอ ผู้สร้างภาพยนตร์ที่เป็นผู้หญิงจะกำหนดมาตรฐานที่ตัวเองต้องทำได้ไว้ในระดับที่สูง และมักจะพลาดโอกาสเพราะขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง

ทันย่า เผยว่า “การเริ่มต้นในช่วงแรกๆ เป็นอะไรที่น่ากลัว แต่อย่ากลัวที่จะลงมือทำสิ่งต่างๆ ในแบบที่ตัวเองเชื่อมั่น ให้ฝึกฝน เรียนรู้ และผลักดันตัวเอง แล้วคุณจะพบกลุ่มผู้ชมของตัวเอง” 

มาริสสา กล่าวเสริมว่า “ถ้าคุณรักในการถ่ายทอดเรื่องราวและการสร้างสรรค์ผลงาน คุณจะพบหนทางที่จะทำให้ตัวเองทำมันต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ” 

รับฟังสิ่งที่น่าสนใจเพิ่มเติมจาก ไพลิน วีเด็ล, ลีน่า แทน, มาริสสา อานิตา  และ ทันย่า ยูซอน ได้ ที่นี่

ที่มาข้อมูล: Netflix

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube