fbpx
Home
|
ข่าว

นิรโทษกรรมก้าวไกล (ไม่สุด) ซอย

 

 

 

ไม่แต่ “การบ้าน”ที่ “ครม.สีชมพู”ในชุดผ้าไทย“รัฐบาลเศรษฐา”ที่วันนี้เปิดประชุมครม.สัญจรครั้งแรก ที่ หนองบัวลำภู ที่ต้องเร่งผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับนโยบายรัฐบาลสำคัญหลายฉบับไม่แต่ โครงการแจกเงินดิจิทัลที่ ออกเป็น พรบ.กู้เงิน ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนสอบถามความเห็นไปยังกฤษฎีกา รวมถึงพรบ.งบประมาณ67 ที่ล่าช้ามาหลายเดือน เข้าสู่สภาในการเปิดสมัยประชุมสภาในช่วงสัปดาห์หน้าราววันที่ 12ธ.ค. ไม่นับรวมการแก้ไขกฎหมายแม่ “รัฐธรรมนูญ” ที่เป็นพันธสัญญากับประชาชน หากแต่ยังมี “ร่างกฎหมายนิรโทษกรรม”หรือ “ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ….” ที่หะแรกดูเหมือนจะมีเพียง “ฝ่ายค้าน”พรรคก้าวไกล จะเป็น ผู้เสนอเข้าสภา โดยเพื่อไทย ที่เป็นแกนนำรัฐบาล ก็แสดงท่าทีทำนองสนับสนุนให้ฝ่ายค้านก้าวไกลเป็นคนผลักดัน

 

 

 

 

 

หากแต่เมื่อภายหลังมีการเปิดเผย ว่า เนื้อหาที่มีการนิรโทษกรรมผู้ร่วมชุมนุมทางการเมืองที่บางรายมีคดีความผิดจากกฎหมายอาญา ม.112 ทำให้ผู้คนในรัฐบาล ทั้งจากเพื่อไทย และจากพรรคร่วมรัฐบาล “ลุงตู่”เดิมดาหน้ากันออกมาไม่เห็นด้วย และทำท่าว่ารัฐบาลอาจมีการเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ประกบกับร่างของก้าวไกล ฝ่ายค้าน ถึงกระนั้น “รัฐบาลเศรษฐา”ที่นำโดย “พรรคเพื่อไทย”ก็ยังไม่อยากออกหน้านำเสนอกฎหมายนี้ จนถูกมองว่า เหมือน“เข็ดขยาด”กับ
“ภาพจำ”จากครั้งสมัย“รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ประเด็น “กฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย”ที่รัฐบาลเพื่อไทย เป็น เจ้าภาพเสนอครั้งนั้นราวปี2556 กลายเป็น จุดเริ่มต้น นำไปสู่การถูกม็อบกปปส.ของ “ลุงกำนันสุเทพ”ชุมนุมขับไล่ และไหลไปสู่การรัฐประหารยึดอำนาจ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” โดยการนำของ “ศูนย์อำนาจ3ป.” ที่ต่อมาเป็น “รัฐบาลลุงตู่”ครองอำนาจยิงยาว9ปี ก่อนจะมีการเลือกตั้งต้นปี 2566 ที่ก้าวไกลชนะเลือกตั้งแต่แพ้การจัดตั้งรัฐบาลให้กับเพื่อไทย ที่ร่องรอยอดีตว่าด้วย
“กฎหมายนิรโทษกรรม”ถูกถือเป็นประเด็น “สารตั้งต้น”อันหนึ่งนอกจากปมประเด็น “โครงการรับจำนำข้าว” ที่กลายเป็น “บาดแผลทางการเมือง” มาถึงทุกวันนี้

 

 

 

 

โดยหนนั้นหากจำได้ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ถูกข้อครหา ที่สภา 310 เสียง การผ่านร่าง พรบ.นิรโทษกรรม ที่โดนตั้งสมญาว่า “ เหมาเข่ง สุดซอย” เพราะได้ขยายให้นิรโทษกรรมรวมไปถึงคดีทุจริตย้อนหลังไปถึงปี 2547 ที่ถูกตรวจสอบโดย คตส.ที่จัดตั้งขึ้นหลังรัฐประหาร 2549 กล่าวหา บางคดีได้รับการพิพากษาตัดสินไปแล้ว และอีกหลายคดี ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิดแล้วและกำลังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินคดี โดย มาตรา 3 ของร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมสุดซอยเหมาเข่ง เขียนว่า “การให้การกระทำทั้งหลายของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นหลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ถึงวันที่ 6 สิงหาคม 2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ ให้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง” ซึ่งเนื้อหาดังกล่าวที่มีการแก้ไขภายหลัง เป็นสาเหตุให้เกิดเสียงวิพากษ์และคัดค้าน กระทั่งนำมาสู่การชุมนุมคัดค้านและขับไล่รัฐบาล ที่จุดประทุจาก กลุ่ม คปท. กลุ่มกองทัพประชาชนต้านทักษิณ และ กปปส.

 

 

 

 

 

เรียกว่าประเด็น กฎหมายนิโทษกรรม ณ พ.ศ.นี้ แม้จะถูกมองว่ามีคอนเซ็ปต์ก้าวข้ามความขัดแย้ง โดยที่ฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลเดิมอย่าง “พรรครวมไทยสร้างชาติ”(รทสช.)ของ “ลุงตู่”เดิมมีการตั้งข้อแม้ตามจุดยืนไว้ 3 ข้อคือ 1.ต้องไม่ทำผิดม.112 2.ต้องไม่ทำผิดกับการคอรัปชั่น และ 3.ต้องไม่ทำผิดคดีอาญาร้ายแรง ในขณะที่เมื่อไปดูในร่าง กม.นิรโทษกรรมของก้าวไกล แม้จะมีการนิรโทษกรรมย้อนหลังกลับไปถึงผู้ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่สมัยการชุมนุมของ “กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย”(พธม.)แต่ก็ยังมีติ่งประเด็น กลุ่มผู้ชุมนุม ที่ส่วนใหญ่เคลื่อนไหวชุมนุมในยุค “รัฐบาลลุงตู่” ซึ่งถูกกล่าวหา ว่า กระทำความผิด ที่ไปเกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาที่เกี่ยวข้องใน ม.112 อยู่ในร่างกฎหมายอันเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ทั้งเพื่อไทย และ พรรคร่วมรัฐบาล ที่มาจาก รัฐบาลลุงตู่ ออกมาแสดงท่าทีชัดเจน ว่าไม่เห็นด้วยและจะไม่สนับสนุนในสภา

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube