fbpx
Home
|
ข่าว

นายกฯรับข้อเรียกร้องส.ผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ รับปากดูแลเต็มที่

Featured Image

 

 

 

นายกฯรับข้อเรียกร้องสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ รับปากดูแลเต็มที่ พร้อมคืนอาชีพให้กับผู้เลี้ยงรายย่อย

 

 

 

 

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี ได้เดินทางออกมารับข้อเรียกร้องจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ รวมถึงตัวแทนสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องของการปราบปรามหมูเถื่อน โดยมีร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายไชยา พรหมมา นายอนุชานาคาศัยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมรับข้อเรียกร้อง โดยนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวขอบคุณพี่น้องเกษตรกรที่เดินทางมาในวันนี้ที่เสียสละเวลามาให้กำลังใจทีมงานรวมถึงรัฐบาลและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำงาน โดยนายกรัฐมนตรีบอกว่าจริงๆแล้วไม่ต้องขอบคุณก็ได้เพราะถือเป็นหน้าที่ที่ฝ่ายบริหารต้องทำอยู่แล้วปัญหาหมูเถื่อนถือว่าเป็นปัญหาที่หมักหมมมานาน 3-4 ปีแล้ว รัฐบาลเข้ามาทำงานเพียง 3-4 เดือน รัฐมนตรีรัฐมนตรีช่วยทุกคนร่วมกันทำงานอย่างจริงจังเข้าใจว่าจะต้องทำงานกันต่อไป โดยจะต้องมีการสืบสาวแต่ขอเวลาให้รัฐบาลได้ทำงานอย่างเต็มที่ ขอให้พี่น้องเกษตรกรอดทนรอรัฐบาลทำงาน ต่อไป ยืนยันว่าจะไม่มีการปกปิดไม่มีการเอื้ออำนวยให้ใครใดๆทั้งสิ้น ทุกคนทำงานเต็มที่

 

 

 

 

 

โดยรัฐบาลเข้าใจถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน จึงไม่ใช่แค่ปราบปรามหมูเถื่อน แต่มองข้ามไปถึงการเตรียมพันธุ์หมู เงินทุนเพื่อให้เกษตรกรรายย่อยรายกลางกลับมาฟื้นฟูอาชีพที่สุจริตได้ โดยรัฐบาลเข้าใจถึงความเดือดร้อนของประชาชนและจะเดินหน้าในการทำงานต่อไป

 

 

 

 

 

ด้านร้อยเอกธรรมนัส ระบุว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะทำงานอย่างจริงจังโดยได้กำชับไปยังนายไชยาที่กำกับดูแลกรมปศุสัตว์ ให้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วนภายในสัปดาห์นี้ โดยให้เชิญตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงผู้ประกอบการทั้งระบบที่เกี่ยวข้องรวมถึงภาครัฐเร่งทำงานตามหน้าที่และตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีเป็นการเร่งด่วน พร้อมทั้งอวยพรให้พี่น้องเกษตรกรที่มาชุมนุมในวันนี้เดินทางกลับโดยปลอดภัย

 

 

 

 

ด้านนายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า 9 ประเด็นที่ยื่นต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้สั่งการแก้ปัญหาบรรเทาความเดือดร้อนของภาคปศุสัตว์ ประกอบด้วย

 

 

1.) เร่งรัดดำเนินคดีผู้นำเข้าเนื้อสุกรผิดกฎหมาย

 

2.) ขอให้เร่งรัดมาตรการทางการเงินให้เร็วขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยที่ประสบปัญหาขาดทุน-วิกฤตด้านราคาสุกรตกต่ำ

 

3.) เนื่องจากสุกรเป็นสินค้าควบคุม ภายใต้กระทรวงพาณิชย์ จึงขอให้มีการกำกับดูแลราคาสินค้าสุกรและสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มให้เกิดความเป็นธรรม สามารถปรับเพิ่มราคาขายได้ให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นได้

 

4.)ขอให้ระงับการนำสินค้าสุกรเข้าไปอยู่ในกรอบการเจรจาเขตการค้าเสรี ไทย-สหภาพยุโรป (FTA Thai-EU) ตราบใดที่ภาคปศุสัตว์ของไทย ยังคงต้องแบกรับผลผลิตพืชอาหารสัตว์ในราคาที่สูงกว่าตลาดโลก

 

5.) ห้ามการจำหน่ายสินค้าเนื้อสุกรสด ในช่องทางออนไลน์ ซึ่งจะมีผลต่อคุณภาพของสินค้าในระหว่างการจัดส่งผ่านช่องทางการขนส่งทั่วไปที่ไม่มีการควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสม และไม่มีการควบคุมการเคลื่อนย้ายซากสัตว์

 

6.) ขอให้กำกับดูแลราคาสินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ให้เกิดความเป็นธรรมต่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดและเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ เข้มงวดในการบังคับใช้ประกาศมาตรฐานการหักลดน้ำหนักเมล็ดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีความชื้น ของกรมการค้าภายในเพื่อไม่ให้ผู้รวบรวมรับซื้อข้าวโพดท้องถิ่นกดราคารับซื้อจากเกษตรกรเกินความเป็นจริง รวมถึงให้มีการพิจารณาทบทวนวิธีการคำนวณหักน้ำหนักความชื้นให้เหมาะสมสอดคล้องกับปัจจุบันที่มีการปรับเปลี่ยนสายพันธุ์และรูปแบบการเพาะปลูก

 

7.) ขอให้ยกเลิกมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ อาทิ มาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลี 3 : 1 ส่วน การกำหนดระยะเวลานำเข้าข้าวโพด AFTA และให้มีการขึ้นทะเบียนผู้นำเข้าแทน ซึ่งมาตรการเหล่านี้ทำให้ประเทศไทยมีราคาวัตถุดิบที่สูงกว่าทุกประเทศในโลก และพิจารณาปรับลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ อาทิ ภาษีกากถั่วเหลือง ร้อยละ 2 , ภาษีกากเบียร์(DDGS) ร้อยละ 9 และภาษีปลาป่น ร้อยละ 15 รวมถึงภาษีวัตถุดิบอาหารสัตว์ชนิดอื่น เนื่องจากจะเป็นต้นทุนที่ส่งผ่านต่อมายังผู้เลี้ยงสัตว์

 

8.) พิจารณาโครงสร้างราคากากถั่วเหลืองเมล็ดนำเข้าที่ขายภายในประเทศตามต้นทุนการผลิตจริง เนื่องจากมีการตั้งราคาอ้างอิงตลาดโลกโดยบวกค่าขนส่งและภาษีนำเข้า ร้อยละ 2 ไปในราคาขาย ตราบใดที่การนำเข้ากากถั่วเหลืองยังคงมีภาษีนำเข้า ร้อยละ 2 เท่ากับผู้ประกอบการที่ซื้อกากถั่วเหลืองในประเทศจะต้องเสียภาษีให้กับผู้ขายในประเทศไปโดยปริยาย ซึ่งที่ผ่านมามักจะได้รับการกล่าวอ้างว่ารายได้ส่วนนี้มีไว้เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคน้ำมันถั่วเหลืองในประเทศ เปรียบเสมือนเกษตรกรปศุสัตว์ต้องช่วยจ่ายค่าน้ำมันถั่วเหลืองให้ผู้บริโภคทั้งประเทศ

 

9.) ส่งเสริมการปลูกพืชอาหารสัตว์ที่ได้ที่มาตรฐาน GAP และส่งเสริมให้ใช้เทคโนโลยี GMO หรือ Gene Editing ที่จะทำให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น เป็นการลดต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น ข้าวสายพันธุ์ที่ได้ผลผลิตสูงที่เหมาะสำหรับเป็นพืชอาหารสัตว์โดยตรง โดยภาคเอกชนยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการผลักดันอย่างเป็นรูปธรรม และต่อเนื่อง

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube