Home
|
ข่าว

“ทิพานัน” เผย สงกรานต์กระจายรายได้ทุกภูมิภาคกว่า 1.8 หมื่นล้าน

Featured Image
“ทิพานัน” เผย สงกรานต์กระจายรายได้ทุกภูมิภาคกว่า 1.8 หมื่นล้าน ด้าน “พล.อ.ประยุทธ์” แสดงความห่วงใย ขอประชาชนตรวจสอบอาการโควิด หลังเล่นน้ำสงกรานต์

 

 

 

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมาการท่องเที่ยวกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประเมินว่ามีการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ 3.8 ล้านคน-ครั้ง ในจำนวนนี้เป็นชาวต่างชาติประมาณ 3 แสนคน สร้างรายได้กระจายทุกภูมิภาคกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท

 

 

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยประชาชน เนื่องจากมีกิจกรรมทางสังคมมากขึ้น ประชาชนเดินทางและเข้าร่วมกิจกรรมเล่นน้ำสงกรานต์เป็นจำนวนมาก อาจมีความเสี่ยงของการติดเชื้อโควิดที่สูงขึ้น ดังนั้นขอให้พี่น้องประชาชนเฝ้าระวังอาการตนเอง หากมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดศีรษะ ตาแดง มีผื่น ถ่ายเหลว จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ควรตรวจ ATK หากมีผลเป็นบวกให้เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิการรักษา เพื่อลดผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ด้วยความตระหนัก แต่ไม่ตระหนก

 

 

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ขอความร่วมมือทุกหน่วยงานบูรณาการเตรียมความพร้อมในการรับมือดูแลพี่น้องประชาชนอย่างเป็นระบบ ในส่วนของผู้ป่วยโควิดที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาทนั้น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีระบบรองรับ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ

 

 

1.ผู้ป่วยสีเขียวที่มีอาการเล็กน้อย สามารถเข้ารับบริการได้ ที่ร้านยาคุณภาพของฉัน ให้ญาติผู้ป่วยเดินทางไปที่ร้านยาที่เข้าร่วม พร้อมกับบัตรประชาชนตัวจริงของผู้ป่วยเพื่อใช้ยืนยันการรับบริการ จากนั้นเภสัชกรประจำร้านยาจะวิดีโอ คอล (VDO call) กับผู้ป่วยเพื่อซักถามอาการและในกรณีที่มีการจ่ายยา เภสัชกรจะแนะนำวิธีการใช้ยาด้วย พร้อมกับจ่ายยาโดยให้ญาตินำกลับไปให้ผู้ป่วย ซึ่งในระหว่างนี้ทางร้านยาฯ จะมีการถ่ายภาพการบริการและจ่ายยาเพื่อนำบันทึกในโปรแกรม Amed ใช้เป็นหลักฐานการให้บริการจริง และหลังจากให้บริการ 3 วัน เภสัชกรจะติดตามอาการผู้ป่วยเพิ่มเติม ตรวจสอบรายชื่อร้านยาที่เข้าร่วมโครงการได้ที> https://www.nhso.go.th/downloads/197

 

 

ทั้งนี้สามารถพบแพทย์ออนไลน์ ส่งยาฟรีถึงบ้าน ผ่าน 4 แอปพลิเคชัน ผู้ป่วยจะได้รับการซักถามและจ่ายยาตามอาการ (หากอาการเข้าเกณฑ์จะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ หรือยาโมลนูพิราเวียร์ตามดุลยพินิจของแพทย์) ไม่เสียค่าใช้จ่าย

 

 

2.ผู้ป่วยสีเหลือง คือผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยงรุนแรง เป็นกลุ่ม 608 หรือมีโรคร่วม และมีอาการรุนแรงขึ้น ได้แก่ (1) วัดไข้ได้ 39 องศาฯขึ้นไป อย่างน้อย 2 ครั้ง ห่างกัน 4 ชั่วโมงใน 1 วัน (2) วัดความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดได้ต่ำกว่า 94% (3) มีภาวะแทรกซ้อนหรือการกำเริบของโรคประจำตัว (4) มีปัจจัยเสี่ยงต่ออาการรุนแรง (5) มีภาวะอื่นๆ ที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และ (6) ผู้ป่วยเด็กที่มีอาการซึม กินได้น้อย มีภาวะขาดน้ำจากอุจจาระร่วงหรือชักจากไข้สูง เป็นต้น ให้เข้ารับบริการที่หน่วยบริการ (สถานพยาบาล) ประจำที่ลงทะเบียนไว้ หรือหน่วยบริการปฐมภูมิทุกที่ ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข (พื้นที่กรุงเทพมหานคร) คลินิกชุมชนอบอุ่น สถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) หน่วยบริการปฐมภูมิของโรงพยาบาล ศูนย์สุขภาพชุมชน

 

 

3. กลุ่มผู้ป่วยสีแดง ที่มีอาการรุนแรง ได้แก่ หอบเหนื่อยหนักมาก พูดไม่เป็นประโยค แน่นหน้าอก หายใจเจ็บหน้าอก ปอดอักเสบรุนแรง อ่อนเพลีย ตอบสนองช้า ไม่รู้สึกตัว มีภาวะช็อก/โคม่า ซึมลง ไข้สูงกว่า 39 องศาฯ ค่าออกซิเจนต่ำกว่า 94% ต้องรีบรักษาโดยเร็ว เข้ารับบริการที่หน่วยบริการได้ทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดเพื่อรักษาทันท่วงที โดยใช้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (UCEP)

 

 

ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน สปสช. 1330 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ ไลน์ OA สปสช. ไลน์ไอดี @nhso หรือเข้าเว็บไซต์ของ สปสช. ที่ www.nhso.go.th กรณีหาเตียงไม่ได้ หรือหน่วยบริการเตียงเต็ม ให้ติดต่อสายด่วน 1330

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube