ส.ว.คว่ำญัตติเสนอครม.ทำประชามติ 157ต่อ12เสียง
ส.ว.คว่ำญัตติเสนอครม.ทำประชามติ แก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ ส.ส.เห็นชอบแล้ว 157 ต่อ 12 เสียง
การประชุมวุฒิสภาวันนี้ (21 ก.พ.) มี พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม เพื่อการพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบ ผลการลงมติของสภาผู้แทนราษฎร ในญัตติขอให้สภามีมติส่งเรื่องที่มีเหตุสมควรจะให้มีการออกเสียงประชามติให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการ พร้อมกับรายงานของคณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาญัตติขอให้สภามีมติส่งเรื่องที่มีเหตุสมควรจะให้มีการออกเสียงประชามติให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการ ที่เสนอโดย นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.พรรคก้าวไกล และ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย
โดยนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานกรรมาธิการฯ รายงานผลการศึกษาที่พบว่า เหตุผลที่เสนอให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะมีที่มาจากการทำรัฐประหาร ยังไม่เป็นเหตุผลอันสมควร เนื่องจากรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับของประเทศไทยมีที่มาต่างกัน แต่สุดท้ายก็มีผลบังคับใช้เหมือนกัน และสามารถแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาในฉบับเดิมให้มีความเหมาะสมได้ และในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ก็ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับ ส.ส.ร. อีกทั้งญัตติที่เสนอไม่ได้ระบุกรอบ ขอบเขต ที่ชัดเจน มีลักษณะมุ่งเพียงการตั้งคำถาม
แต่ไม่ได้มีสาระสำคัญที่แสดงถึงข้อบกพร่องเกี่ยวกับเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จึงอาจกระทบหลักการปกครอง และโครงสร้างของประเทศไทย ทั้งนี้ การจัดทำประชามติ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ มีกรอบคือไม่เร็วกว่า 90 วัน และไม่ช้ากว่า 120 วัน ดังนั้น จึงมีโอกาสน้อยที่การทำประชามติจะสามารถดำเนินการไปพร้อมกับการเลือกตั้งได้ แม้ว่ากฎหมายไม่ได้ห้าม และหากต้องดำเนินการทำประชามติ ต้องทำถึง 3 ครั้ง ครั้ง 3,500 ล้านบาท รวมแล้วต้องใช้งบประมาณมากกว่าหมื่นล้านบาท
ขณะเดียวกัน นายสมชาย ย้ำว่า กรรมาธิการฯ ไม่ได้มีความขัดข้อง หากสังคมต้องการที่จะทำประชามติ และหากต้องการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็สามารถทำได้ แต่ต้องพิจารณาถึงความถูกต้องมิให้ขัดหรือแย้งกับข้อกฎหมาย
ขณะเดียวกัน นายสมชาย ย้ำว่า กรรมาธิการฯ ไม่ได้มีความขัดข้อง หากสังคมต้องการที่จะทำประชามติ และหากต้องการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็สามารถทำได้ แต่ต้องพิจารณาถึงความถูกต้องมิให้ขัดหรือแย้งกับข้อกฎหมาย
ขณะที่การอภิปราย โดยสมาชิกมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับผลการศึกษาของกรรมาธิการฯ อย่าง นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา อภิปราย ยืนยันว่า จะรับญัตติทั้ง 2 ที่เสนอมาจากสภาผู้แทนราษฎร พร้อมระบุเหตุผลว่า ญัตติดังกล่าวเป็นเพียงการสอบถาม ไม่ใช่การระบุถึงรายละเอียดและขั้นตอนตามที่กรรมาธิการฯ ได้สรุปรายงานมา ซึ่งสภามีหน้าที่ในการแจ้งเรี่อง และสุดท้ายคณะรัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ ดังนั้น ขั้นตอนยังมีอีกมากโดยบทสรุปยังไม่ได้ชัดเจนว่าจะต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาแทน
ด้านกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา เห็นด้วยกับรายงานของกรรมาธิการฯ เนื่องจากมองว่า การขอแก้ไขว่า ทำไปเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองที่ต้องการปลดล็อกจุดแข็งของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือการปราบโกง และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งของประชาชนรอบใหม่หากส่งรายงานดังกล่าวไปให้คณะรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้ว วุฒิสภา ลงมติเห็นด้วย 12 เสียง ไม่เห็นด้วย 157 เสียง ผลปรากฏว่ามติดังกล่าวถือว่าตกไปเพราะวุฒิสภาไม่เห็นชอบ เนื่องจากตามกฎหมายประชามติใหม่ ต้องให้ 2 สภาเห็นชอบ
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews