สธ.เผยข้อสรุปผู้เสียชีวิต 13 รายไม่เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ยัน มีความปลอดภัย ขณะอีก 55 ราย อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค
นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวสรุปการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ให้หน่วยบริการ ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 – 16 มิ.ย.64 ได้รับการจัดสรรวัคซีนทั้งสิ้น 7,191,744 โดส ให้บริการฉีดวัคซีนไปแล้ว รวมทั้งสิ้น 7,003,783 โดส จำแนกเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 5,114,755 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 1,889,028 ราย
นอกจากนี้ การพิจารณาของคณะผู้เชี่ยวชาญกรณีเสียชีวิตภายหลังการได้รับวัคซีนโควิด-19 ข้อมูล ณ วันที่ 15 มิ.ย. 64 เวลา 16.30 น. พบว่า
จำนวนผู้เสียชีวิตภายหลังได้รับวัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับรายงาน มีจำนวน 68 ราย
• “แอสตราเซเนกา VS ซิโนแวค” เทียบชัดอาการไม่พึงประสงค์ หลังฉีดวัคซีนโควิด-19
• ข่าวปลอม! วัคซีนแอสตราเซเนกา ที่ฉีดวันที่ 15 มิ.ย.หมดอายุ
• ผู้ป่วยโรคเบาหวาน เตรียมตัวอย่างไรก่อนไปฉีดวัคซีนโควิด-19
จำนวนผู้เสียชีวิตภายหลังได้รับวัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับพิจารณาโดยคณะผู้เชี่ยวชาญฯ มีจำนวน 13 ราย แบ่งเป็น เกี่ยวกับวัคซีน 0 ราย และเกิดจากเหตุการณ์ร่วมที่ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือการฉีดวัคซีน มีจำนวน 13 ราย โดยเกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน 8 ราย ภาวะ Immune Thrombotic thrombocytopenic purpura 1 ราย ลิ่มเลือดอุดตันในปอด 1 ราย เยื้อหุ้มสมองอักเสบเป็นหนอง purulent meningitis 1 ราย และเลือดออกในช่องท้องจาก intra abdominal aneurysm 1 ราย และ Ruptured aneurysm ในสมอง หรือเลือดออกในสมองเนื่องจากความผิดปกติ 1 ราย
นพ.เฉวตสรร ยังกล่าวถึงการเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์หลังได้รับวัคซีนในต่างประเทศ โดยระบุว่า สหรัฐ มีประชากรประมาณ 328 ล้านคน ปกติเสียชีวิตปีละ 3.3 ล้านคน ขณะนี้ ฉีดวัคซีนแล้ว 312 ล้านโดส มีรายงานการเสียชีวิตหลังการได้รับวัคซีนโควิด-19 ช่วงวันที่ 14 ธ.ค.63-3 พ.ค.64 (ขณะนั้น ฉีดวัคซีนไปแล้ว 259 ล้านโดส) จำนวนเสียชีวิต 4,173 ราย โดยคณะผู้เชี่ยวชาญ สรุปว่า ไม่มีสาเหตุจากวัคซีนโควิด-19 แต่อย่างใด
นพ.เฉวตสรร กล่าวต่อว่า สำหรับการพิจารณาอาการไม่พึงประสงค์ในระบบของประเทศไทย คณะผู้เชี่ยวชาญฯ จะรวบรวมข้อมูลผู้เสียชีวิตที่มีอาการรุนแรง ทั้งมีลักษณะอาการป่วย ระยะเวลาที่ได้รับการฉีดวัคซีนและเริ่มมีอาการ โรคประจำตัวและการรักษาเดิม ครอบคลุมทุกมิติ โดยผลการพิจารณาแบ่งออกเป็น 7 ประเภท คือ
1.เกี่ยวข้องกับวัคซีน
2.เกี่ยวข้องกับคุณภาพของวัคซีน
3.เกี่ยวข้องกับการให้บริการฉีดวัคซีน
4.เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนที่ไม่ได้มีสาเหตุทางกายภาพ เช่น อาการชา เอกซเรย์สมองไม่มีสาเหตุ หายได้เองทุกราย
5.เป็นเหตุการณ์ร่วมที่ไม่เกี่ยวกับวัคซีนแต่บังเอิญเกิดร่วมกัน
6.ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีน ต้องเก็บรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม
7.ข้อมูลยังไม่เพียงพอที่จะสรุป
อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญสูงสุดเรื่องความปลอดภัยของประชาชน จะต้องนำข้อมูลที่เกี่ยวข้อง อย่างรอบด้านมาพิสูจน์ทราบเพื่อความชัดเจน และจะพยายามอย่างเต็มที่ ให้ได้ข้อสรุปที่น่าเชื่อถือและมั่นใจ จนถึงขณะนี้วัคซีนยังมีความปลอดภัยเช่นเดียวกับวัคซีนหลากหลายยี่ห้อที่ฉีดทั่วโลกหลายร้อยล้านโดส
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news