fbpx
Home
|
ไลฟ์สไตล์

จากนิยายสู่ชีวิตจริง มาทำความรู้จักกับโรคสุดแปลก Alice in Wonderland Syndrome

Featured Image

          หากใครยังไม่เคยดูภาพยนตร์เรื่อง Alice in Wonderland แต่เชื่อว่าทุกคนต้องเคยได้ยินชื่อนิยายหรือวรรณกรรม เรื่อง Alice’s Adventures in Wonderland หรือ อลิซในดินแดนมหัศจรรย์ ของ Lewis Carrol (ลูอิส แคร์รอล) กันมาบ้าง เพราะนิยายหรือวรรณกรรมเรื่องนี้ถูกนำมาทำเป็นการ์ตูน และภาพยนตร์หลายเวอร์ชั่นจนโด่งดังทั่วบ้านทั่วเมือง ถูกใจทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เพียงแค่เห็นชื่อเรื่องก็คงรู้ถึงคอนเซ็ปต์เรื่องกันได้ไม่ยากว่าเป็นภาพยนตร์แนวแฟนตาซี ในเรื่องก็เต็มไปด้วยสิ่งมหัศจรรย์มากมาย อย่างขนาดของสิ่งต่างๆ แปลกไป สัตว์พูดได้ สิ่งของมีชีวิต วันนี้เราจะพาทุกคนมารู้จักกับโรคประหลาดทางระบบประสาทการมองเห็นนี้กัน

          Alice in Wonderland Syndrome (AIWS) หรืออีกชื่อคือ Dysmetropsia เป็นโรคที่หาได้ยากทางระบบประสาท โดยลักษณะอาการเกิดจาก การบิดเบือนของการรับรู้ทางสายตา กล่าวคือ ภาพที่ผู้ป่วยโรค AIWS เห็นจะมีความผิดปกติ หรือเกินความเป็นจริง เช่น มองเห็นสิ่งของ ใกล้-ไกล หรือ เล็ก-ใหญ่ เกินความเป็นจริง เห็นสิ่งของที่ไม่มีชีวิตสามารถเคลื่อนไหวได้ หรือมีการรับรู้เกี่ยวกับเวลา เสียง การสัมผัส และเห็นภาพลักษณ์ของบุคคลอื่นต่างไปจากคนทั่วไปเห็น ราวกับ อลิซ ที่อยู่ในดินแดนมหัศจรรย์ เลยก็ว่าได้

          กรณีที่เกิดขึ้นกับชายวัย 54 ปี ที่จู่ๆ เขาก็มองเห็นไอคอน ต่างๆ ในคอมพิวเตอร์ค่อยๆ กระโดดออกจากหน้าจอออกมาอยู่ข้างหน้าเขา เป็นเวลากว่า 10 นาทีที่เขาเห็นไอคอนต่างๆ เป็นแบบนั้น ก่อนที่มันจะค่อยๆเลือนหายไปทางขวาของเขา อาการประหลาดนี้ทำให้เขาต้องเข้าไปยังห้องฉุกเฉิน และภายหลังแพทย์ได้ระบุว่าเขามีอาการของ Alice in Wonderland Syndrome

          โดยปกติแล้ว Alice in Wonderland Syndrome เกิดได้จากหลายสาเหตุเช่น อาการลมชัก ไมเกรน หรืออาการทางจิต ไม่ใช่แค่อาการเมายาอย่างที่เราๆ เข้าใจกันเพียงอย่างเดียวเท่านั้น อาการนี้จะทำให้ผู้ป่วยมีการรับรู้ที่ผิดพลาด ส่งผลกระทบต่อทั้งขนาด และ ตำแหน่งในพื้นที่ ลอดจนการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมโดยรอบ จึงทำให้ผู้ป่วยมีอาการมองเห็นภาพหลอน สิ่งของต่างๆ ผิดรูปผิดร่าง ผิดขนาดไป 

          อย่างไรก็ตาม กลุ่มอาการ Alice in Wonderland Syndrome มีสาเหตุหลักๆ มาจากความผิดปกติบางประการในสมองส่วนการรับรู้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นภาวะที่จะนำไปสู่การเกิดไมเกรนในอนาคตได้ มักจะเกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราวและกินเวลาไม่นานนัก โดยผู้ป่วยอาจเห็นภาพหลอนบิดเบี้ยวที่ทำให้ภาพที่ปรากฏมีขนาดหรือทิศทางไม่ตรงกับความเป็นจริง รวมทั้งไม่สามารถคาดคะเนสิ่งของตรงหน้าได้อย่างถูกต้อง บางครั้งก็อาจมีภาวะไข้สมองอักเสบจากไวรัสร่วมอยู่ด้วย ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ 

          ทั้งนี้ ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาภาวะนี้ให้หายเป็นการถาวรได้ ซึ่งหากเกิดสภาวะดังกล่าวเข้ากับตัวเอง ก็อาจต้องพักผ่อน และอดทนรอให้อาการหายไปเอง ตลอดจนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง เช่น หากิจกรรมที่ทำให้ผ่อนคลาย หรือนอนหลับพักผ่อนให้เป็นเวลา เป็นต้น

          ถึงแม้ว่าโรคนี้จะพบได้ยากและไม่ได้ถูกพูดถึงมากนัก แต่การตื่นตัวและทำรู้จักกับอาการของโรค ก็อาจช่วยให้คุณได้ตระหนักถึงการดูแลสุขภาพให้มากขึ้น เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าเราจะเป็นป่วยโรคอะไรตอนไหน สำหรับใครที่ถูกใจบทความดีๆ แบบนี้ ก็สามารถติดตามได้ที่ iNN Lifestyle

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube