fbpx
Home
|
ไลฟ์สไตล์

29 กรกฎาคม วันภาษาไทยแห่งชาติ

Featured Image

          สวัสดีวันภาษาไทยแห่งชาติกันนะทุกคน เกิดมาเป็นคนไทยทั้งที จะลืมวันนี้กันไปได้อย่างไร วันนี้ทำให้นึกถึงตอนสมัยเด็กๆ ที่ในทุกๆ ปีแต่ละโรงเรียนจะมีกิจกรรมมาให้นักเรียนร่วมสนุกกัน ไม่ว่าจะเป็นการส่งผลงานเข้าประกวดคำขวัญวันภาษาไทย การจัดนิทรรศการ การอภิปรายทางวิชาการ การประกวดแต่งคำประพันธ์ ร้อยแก้ว ร้อยกรอง การขับเสภา การเล่านิทาน เป็นต้น

          ซึ่งในทุกๆ ปีวันภาษาไทยแห่งชาติจะตรงกับวันที่ 29 กรกฎาคม มีใครสงสัยไหมว่า วันภาษาไทยแห่งชาตินั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร? วันนี้ iNN ได้หาคำตอบมาให้ทุกคนแล้ว ไปอ่านพร้อมๆ กันเลย  

          ก่อนที่เราจะไปรู้ที่มาของวันนี้ หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าภาษาไทยเป็นภาษาที่เก่าเเก่ที่สุดในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภาษาไทยมีรากฐานมาจากออสโตรไทย ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับภาษาจีน ต่อมาพ่อขุนรามคำเเหงได้ประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1826 โดยมีพยัญชนะไทย 44 ตัว (21 เสียง), สระ 21 รูป (32 เสียง), วรรณยุกต์ 5 เสียง คือ เสียงสามัญ เอก โท ตรี และจัตวา 

ความเป็นมาของวันภาษาไทยแห่งชาติ

          เหตุผลที่เลือกวันที่ 29 กรกฎาคม เป็น วันภาษาไทยแห่งชาติ เป็นเพราะเมื่อวัน 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานและทรงอภิปรายเรื่อง “ปัญหาการใช้คำไทย” ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงแสดงความห่วงใยในภาษาไทย และทำให้ผู้ร่วมประชุมครั้งนั้นประทับใจเป็นอย่างมาก

          สำหรับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในครั้งนั้น มีใจความตอนหนึ่งว่า 

          “เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษาก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่าวิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สามคือความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้… สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่ายๆ ก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่าๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก…”

          ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 เห็นชอบและกำหนดให้วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ 

วัตถุประสงค์ของวันภาษาไทยแห่งชาติ

  1. เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์ และนักภาษาไทย รวมทั้งเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ได้ทรงแสดงความห่วงใย และพระราชทานแนวคิดต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย 
  2. เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2542 
  3. เพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกของคนไทยทั้งชาติให้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือร่วมใจกันทำนุบำรุงส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และเป็นสมบัติวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป 
  4. เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการใช้ภาษาไทย ทั้งในวงวิชาการและวิชาชีพ รวมทั้งเพื่อยกมาตรฐานการเรียนการสอนภาษาไทยในสถานศึกษาทุกระดับให้สัมฤทธิผลยิ่งขึ้น 
  5. เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐบาลและเอกชนทั่วประเทศมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อเผยแพร่ความรู้ภาษาไทยในรูปแบบต่างๆ ไปสู่สาธารณชนทั้งในฐานะที่เป็นภาษาประจำชาติ และในฐานะที่เป็นภาษาเพื่อการสื่อสารของทุกคนในชาติ

และนี่ก็คือที่มาและความสำคัญของวันภาษาไทยแห่งชาติที่ทางทีม iNN ได้นำมาฝากคนไทยทุกคนกัน ภาษาไทยถือเป็นภาษาแห่งชาติ และเป็นเอกลักษณ์ของชาติที่เราคนไทยควรภาคภูมิใจ เพราะบางประเทศไม่มีแม้กระทั่งภาษาที่เป็นของตัวเอง ดังนั้นเราควรอนุรักษ์ภาษาไทยให้คงอยู่ต่อไปกันนะทุกคน สำหรับใครที่ไม่อยากพลาดทุกเรื่องอินเทรนด์ สามารถติดตาม ข่าวหรือ ไลฟ์สไตล์ต่างๆ ได้ที่ iNN Lifestyle

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

ขอขอบคุณเนื้อหาและข้อมูล

กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

Wikipedia

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube