ลุงตู่-ศักดิสยาม-ธนาธร-พิธา-ทวี Vs คำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ศาลรธน.
ยังคงเป็นที่ถกเถียงในวงกว้างกับ คำสั่งให้ “หยุดปฏิบัติหน้าที่”ของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ที่มีมติให้ “พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง”รมว.ยุติธรรม “หยุดปฏิบัติหน้าที่”ในฐานะ “ผู้กำกับดูแล กรมสอบสวนคดีพิเศษ”DSI และ รองประธานกรรมการคดีพิเศษ เนื่องจากมีข้อสงสัยว่าอาจใช้อำนาจแทรกแซงการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
ในการตรวจสอบคดี “ฮั้วเลือกตั้ง สว.” โดย คำสั่ง เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรค3 ประกอบมาตรา 82 ซึ่ง การสั่ง “หยุดปฏิบัติหน้าที่” ศาลสามารถใช้ได้เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่า “รัฐมนตรี”มีพฤติกรรมที่อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ระหว่างที่ศาลยังไม่ได้วินิจฉัยคดี โดยกรณีดังกล่าว โฟกัสเฉพาะงาน DSI ทำให้ หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตความแตกต่างจากคำสั่ง “หยุดปฏิบัติหน้าที่”ในอดีต ทำให้น่าสนใจย้อนเวลากลับไปดูบรรดานักการเมืองที่เป็น รัฐมนตรี ส.ส. ในอดีตที่เคยถูก ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ผ่านสถานการณ์ช่วงเวลาเหล่านั้น
ไล่ตั้งแต่ “นายกลุงตู่” “พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา” อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 29 ที่ถือว่าเป็นนายกฯ ที่ถูกยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญมากที่สุดคนหนึ่งถึง 5 ครั้ง ที่ “ลุงตู่”ก็รอดทุกครั้ โดย“ศาล”ยกคำร้อง4ครั้ง มีเพียงครั้งที่5 ซึ่งอยู่ในยุค “รัฐบาล”ที่3ป.ผสมกับ “นักการเมืองจากการเลือกตั้ง” ที่ศาลรับพิจารณา ในปม วาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ที่ก่อนจะไปยังปลายทางการตัดสิน “ลุงตู่”ก็มีลุ้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5 ต่อ 4 วันที่ 24ส.ค.2565 สั่งให้ “ลุงตู่” หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยออกมา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 โดยคำสั่งดังกล่าวมีผลทันที ต่อมามีการให้ “ลุงป้อม- พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ”รักษาการแทนนายกฯ เพราะ แม้ “ลุงตู่” จะถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายกฯ แต่ความเป็น รมว.กลาโหมของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่สิ้นสุด สามารถเข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีในฐานะรัฐมนตรีได้
ถัดมาเป็น “นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ”รมว.คมนาคม “น้องชาย” “นายเนวิน ชิดชอบ”ผู้นำจิตวิญญาณ พรรคภูมิใจไทย ที่วันที่ 3 มี.ค. 66 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ รมว.คมนาคม
เนื่องจากมีข้อกล่าวหาว่ายังคงเป็นผู้ถือหุ้นและเจ้าของกิจการ หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ที่อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ที่แม้ต่อมา 11 เม.ย.66 “นายศักดิ์สยาม”จะยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 10 เม.ย.66 ขอให้เพิกถอนคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี แต่ศาลก็มีคำสั่ง “ยกคำร้อง”(18เม.ย.66) โดยเห็นว่า กรณียังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติม อันจะเป็นเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่เดิม จึงยกคำร้อง ที่ปลายทางคดีนี้ต่างจาก “ลุงตู่” โดยปลายปี 66 ศาล มีมติ ให้ความเป็นรัฐมนตรีของ”ศักดิ์สยาม” ชิดชอบ” สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามคำร้อง คดีซุกหุ้นบุรีเจริญ นับแต่วันที่ศาลสั่ง”หยุดปฏิบัติหน้าที่”
ส่วนเมื่อย้อนกลับไปดู รัฐมนตรี และ ส.ส.ที่เคยถูกร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาโดยเฉพาะ ในช่วงรัฐบาล “ลุงตู่”จนถึงช่วง “เศรษฐา”ที่ไม่ถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่แต่ปลายทางโดน “ศาลรัฐธรรมนูญ” สอยปม “จริยธรรม”ตั้ง “รัฐมนตรีถุงขนม” จะพบว่า ส่วนใหญ่ “ศาล”จะไม่สั่งให้ “หยุดปฏิบัติหน้าที่” ไม่ว่าจะเป็น กรณีคดี “ดอน ปรมัตถ์วินัย” รมว.ต่างประเทศ ปี 2561 ที่ถูกร้อง ภรรยาถือหุ้นเกิน 5% ที่มี ระยะเวลายื่นและรับคำร้อง 416 วัน ระยะเวลารับคำร้อง 69 วัน ที่ศาลให้ ปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติจนกว่าศาลจะวินิจฉัย ,คดี4รัฐมนตรี ในรัฐบาล คสช.(พ.ศ.2562)ถือหุ้นสัมปทานรัฐ ที่มีระยะเวลายื่นนร้อง 353วัน และศาลรับคำร้องใน 75 วัน ที่ศาลให้ ปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติ จนกว่าศาลจะวินิจฉัย,คดีถือหุ้นสื่อ 41 ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ปี 2563 ระยะเวลายื่น 8 วัน
รับคำร้อง 14 วัน ที่ศาลให้ ปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติจนกว่าศาลจะวินิจฉัย
ในขณะที่ คดีถือหุ้นสื่อของ“ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ”หัวหน้าพรรคพรรคอนาคตใหม่ (พ.ศ.2562) เวลายื่น 51 วัน รับคำร้อง 7 วัน ที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” สั่งให้หยุดปฎิบัติหน้าที่ส.ส.ชั่วคราว
จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย ที่ต่อมา เมื่อศาล “รับคำร้อง”ได้มีการ สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ก่อนวันเปิดสมัยประชุมสภาครั้งแรก จนมีภาพ “ปู่ชัย- ชัย ชิดชอบ”ประธานสภาสมัยนั้น ไม่อนุญาต
ให้ “ธนาธร”ลุกขึ้นพูด ก่อนที่เขาจะเดินออกจากห้องประชุมสภาท่ามกลางเสียงปรบมือของสมาชิก และปิดท้ายที่ “คดีถือหุ้นสื่อ”ของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์”หัวหน้าพรรคพรรคก้าวไกล ที่มี ระยะเวลา ยื่นคำร้อง 63 วัน ศาลรับคำร้อง จากหน่วยงาน กกต.ใน 7 วัน ที่ ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้ “พิธา” หยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส.จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย และต่อมา “ศาลรัฐธรรมนูญ”ได้สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ในวันที่สภามีประชุมวาระโหวตเลือกตั้ง “นายกฯ”ครั้งที่ 2
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews