fbpx
Home
|
คลิปข่าวทั่วไป

เปย์งบอุดรายจ่าย อย่าลืมเพิ่มรายได้

รัฐบาลเทงบกว่า 80,000 ล้านบาท สำหรับมาตรการเพื่อช่วยเหลือและลดผลกระทบต่อประชาชน ในช่วงสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ส่วนใหญ่พุ่งเป้าไปที่ผู้มีรายได้น้อย ช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เกิดจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น แต่เป็นมาตรการระยะสั้นช่วยลดรายจ่ายแต่ไม่เพิ่มรายได้ วิกฤตครั้งนี้จะเอาตัวรอดหรือไม่

 

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือ สรท. เปิดเผยกับสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า มาตรการของภาครัฐส่วนใหญ่พุ่งเป้าไปที่ผู้มีรายได้น้อยทำให้รายจ่ายลดลงแต่ก็เป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งวิกฤตที่เกิดขึ้นระหว่างรัสเซียกับยูเครนไม่น่าจะจบในเร็ววันนี้ มาตรการด้านค่าขนส่งตรึงราคาพลังงานควรยืดออกไปจนถึงไตรมาสที่ 3 และควรเพิ่มเติมในส่วนของการเพิ่มรายได้ โดยเฉพาะกับSMEs ส่งออกนับหมื่นราย ด้วยการเพิ่มช่องทางให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ดอกเบี้ยต่ำ สามารถต่อยอดจากคำสั่งซื้อที่มีอยู่ได้ ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการเพิ่มรายได้ให้กับประเทศและสามารถพยุงเศรษฐกิจให้ยังคงเติบโต สนับสนุนการส่งออกในภาพรวม

 

ซึ่งเวลานี้ต้องยอมรับว่าผู้ส่งออกได้รับผลกระทบอย่างหนักทั้งต้นทุนพลังงาน ค่าขนส่ง ระบบโลจิสติกส์ และวัตถุดิบในการผลิตสินค้าปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การรับมือกับผลกระทบไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเวลานี้ยังมองไม่เห็นจุดสูงสุดของปัญหาว่าจะสิ้นสุดลงตรงไหน การมีแต่รายจ่ายไม่เพิ่มรายได้ คงไม่ใช่ทางออกที่ดีของการแก้ปัญหาในระยะยาว เพราะแน่นอนว่าเราจะไม่เห็นราคาน้ำมันปรับตัวลดลงต่ำเหมือนก่อนหน้านี้อีกต่อไป

 

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยกับสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า มาตรการของภาครัฐถือเป็นมาตรการทางตรงในการช่วยลดผลกระทบจากค่าใช้จ่ายสำหรับภาคการขนส่ง ถือว่าเพียงพอในการช่วยพยุงและลดผลกระทบของปัญหาในระยะสั้น และเชื่อว่าหากสถานการณ์ปัญหายังคงยืดเยื้อรัฐบาลสามารถขยายเวลาเพื่อเปิดช่องในการช่วยเหลือประชาชนเพิ่มเติมได้อีก

 

และจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ทางศูนย์พยากรณ์ฯ ได้ประเมินผลกระทบสูงสุดต่อเศรษฐกิจไทยไว้ที่ 2.5 แสนล้านบาท GDP ลดลงร้อยละ 1.5 เหลือเติบโตได้เพียงร้อยละ 2.5 ในปีนี้ จากกรอบเดิมที่ศูนย์พยากรณ์ฯ ได้ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 4 แต่หากสถานการณ์จบลงได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 เศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบ ลดลงเพียงร้อยละ 0.5 เหลือขยายตัวร้อยละ 3.5 แต่ทั้งหมดยังคงมีความไม่แน่นอนสูง เพราะความชัดเจนระหว่างรัสเซียกับยูเครนเวลานี้ถือว่าเดาทางได้ยาก

 

โดยเศรษฐกิจไทยยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่คึกคัก ทั้งในช่วงสงกรานต์และการใช้จ่ายเดินทางท่องเที่ยว อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ยากขึ้น มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายที่รัฐบาลไม่ต้องลงทุนมาก เช่น มาตรการคนละครึ่งจึงยังคงมีความจำเป็นควบคู่ไปกับมาตรการลดค่าครองชีพ เพื่อช่วยประคับประคองจนกว่าวิกฤตจะคลี่คลายและประชาชนเดินได้ด้วยตัวเองอีกครั้ง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube