fbpx
Home
|
ข่าว

โฆษกย้ำนายกฯแก้ปัญหารอบคอบ-ช่วยปชช.แบบพุ่งเป้า

Featured Image
โฆษกรัฐบาล ย้ำนายกฯบริหารงานภายใต้วิกฤตสถานการณ์โลกอย่างรอบคอบเป็นระบบ เน้นมาตรการช่วยเหลือประชาชนแบบพุ่งเป้า

 

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด หลังจากรัฐบาลเดินหน้า 10 มาตรการระยะสั้น ดูแลคนทุกกลุ่ม เพิ่มเติมจากนโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลได้ออกไปแล้วและยังใช้อยู่ ประกอบด้วย

 

  • มาตรการดูแลครัวเรือนทั่วไป โดยลดค่า ft สำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 หน่วย
  • มาตรการดูแลกลุ่มนายจ้างและผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม โดยลดอัตราเงินสมทบในกองทุนประกันสังคม มาตรการดูแลกลุ่มผู้มีรายได้น้อยช่วยเหลือค่าก๊าซหุงต้ม
  • มาตรการดูแลกลุ่มขนส่งและโดยสารสาธารณะ กลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ผู้ขับขี่แท็กซี่มิเตอร์ โดยช่วยตรึงราคาน้ำมันดีเซลและราคาก๊าซ เพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพ ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศด้วย

 

ทั้งนี้ สำหรับปัญหาราคาน้ำมันที่สูงขึ้น จากวิกฤตความขัดแย้งยูเครน-รัสเซียที่เกิดขึ้น รัฐบาลได้ประเมินสถานการณ์ร่วมกันเบื้องต้น คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยสองช่องทางหลักได้แก่

 

(1) ผลกระทบต่อเงินเฟ้อ กรณีที่ราคาน้ำมันดิบดูไบเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล คาดว่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อของไทยในปี 2565 จะเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 5.0

(2) ผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวเนื่องจากแนวโน้มการลดลงของนักท่องเที่ยวรัสเซียและยุโรปซึ่งเป็นกลุ่มหลักที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย

 

อย่างไรก็ตามภาพรวมของการช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤต 2 ปีที่ผ่านมาที่ได้ประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แบ่งเป็นการช่วยเหลือทางด้านสาธารณสุข 213,581.51 ล้านบาท การช่วยเหลือเยียวยาประชาชน 869,430.94 ล้านบาท และการรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการและการกระตุ้นการบริโภคในระบบเศรษฐกิจ 273,508.24 ล้านบาท ถือซึ่งเป็นการช่วยเหลือแบบพุ่งเป้า ภายใต้งบประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท

 

 

 

ส่วนของความคืบหน้ามาตรการลดภาระค่าครองชีพของรัฐของปี 2565 จำนวน 3 โครงการ ข้อมูล ณ วันที่ 24 มีนาคม 2565 มีผู้ใช้สิทธิสะสม รวม 40.88 ล้านคน ยอดใช้จ่าย สะสม รวม 63,109.11 ล้านบาท แบ่งเป็น

 

1) โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 มีผู้ใช้สิทธิสะสม 26.26 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 57,443.8 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนที่ประชาชนจ่ายสะสม 29,224.0 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่ายสะสม 28,219.8 ล้านบาท

 

2) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 4 มีผู้ใช้สิทธิสะสม 13.35 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 5,204.73 ล้านบาท

 

3) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 2 มีผู้ใช้สิทธิสะสม 1.27 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 460.58 ล้านบาท โดยประชาชนสามารถใช้ ได้จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2565

 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้ดูแล แก้ไข เยียวยาความเดือดร้อนของประชาชนทุกกลุ่มอย่างดีที่สุด พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญ เอาใจใส่ ทุ่มเทอย่างเต็มที่ในการดูแลพี่น้องประชาชน ให้บรรเทาผ่านพ้นความเดือดร้อนนี้ไปให้ได้ ขอให้ทุกคนอดทนและร่วมมือกันพึ่งพากันและเดินหน้าพร้อมผ่านพ้นวิกฤตไปได้ด้วยกัน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

 

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube