fbpx
Home
|
ข่าว

วิษณุไม่รู้ปมสภาล่มปัดกระทบรบ.

Featured Image
“วิษณุ” ไม่รู้สภาล่มเพราะเหตุใด พร้อมปัดตอบกระแสวิพากษ์วิจารณ์การทำงาน ของ ส.ส.รัฐบาล ด้าน “ชวน” เผยส่วนใหญ่อยู่ในห้องประชุม มอง ส.ส.จงใจไม่กดบัตรลงมติ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงกรณีที่สภาล่ม ขณะที่เริ่มการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. วัตถุอันตราย เพื่อลงมติมาตราที่มีการแก้ไขได้สะท้อนอะไรหรือไม่ ว่า ตนยังไม่ทราบรายละเอียด แต่ได้ชมการถ่ายทอดสดการประชุมรัฐสภา และไม่แน่ใจว่าปัญหาที่เกิดขึ้น จะเกี่ยวเนื่องกับกลัวการแพร่ระบาดโควิด-19 หรือเพราะไม่เห็นด้วย กับ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย กันแน่

ส่วนกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย ตั้งข้อสังเกต ว่า หาก พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวผ่านแล้ว จะทำให้ 3 สารเคมี ที่ประกอบด้วยพาราควอต, คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เข้าไทยได้นั้น นายวิษณุ ย้ำว่า นั่นคือปัญหา จึงไม่แน่ใจว่าสภาล่มจากสาเหตุใด พร้อมปฏิเสธไม่ทราบว่าถ้าหาก ร่างพ.ร.บ. ดังกล่าวผ่านสภาจะทำให้สารดังกล่าวเข้ามาในไทยได้หรือไม่ ซึ่งขณะนี้กระทรวงเกษตรเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการอยู่

พร้อมกันนี้ปฏิเสธตอบ กระแสวิพากษ์วิจารณ์การทำงาน ของ ส.ส. ที่ไม่ทำหน้าที่ จนทำให้สภาล่มดังกล่าว

ส่วนที่สภาล่มบ่อยจะส่งผลกระทบต่อการบริหารของรัฐบาลต่อไปหรือไม่นั้น นายวิษณุ ระบุว่า คงไม่ได้ล่มบ่อย นานๆจะล่มที แต่ช่วงนี้มีสถานการณ์โควิด-19 เข้ามาจึงต้องจำกัดคน สมาชิกบางคนอาจจะกลัว แม้ว่าทางสภาจะมีมาตรการป้องกันก็ตาม

โดยนายวิษณุ ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าสภาล่มจะกระทบต่อกฎหมายที่สำคัญของรัฐบาลหรือไม่ จึงต้องรอดูไปก่อน แต่คาดว่าจะไม่กระทบกันกฎหมายงบประมาณ เพราะยังมีระยะเวลาอีกนานและคาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

ส่วนกรณีที่ นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน ระบุว่า เป็นแท็กติกที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ นายวิษณุ มองว่ากรณีนี้เป็นเหมือนกับการประชุมสภาทั่วไป เมื่อเห็นขัดแย้งก็มีการวอล์กเอาท์ออกจากห้องประชุมหรือให้นับองค์ประชุมใหม่ หรือแม้กระทั่งสมาชิกอยู่ครบองค์ประชุมแต่ไม่ยอมขานชื่อ ซึ่งเทคนิคในสภามีอยู่มาก ไม่ใช่เรื่องที่น่าตื่นเต้น แต่หากเป็นการพิจารณาเรื่องสำคัญจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ แต่การประชุมเมื่อวานนี้ (30 ก.ค. 64) ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะในมาตรา 6 มีการถกเถียงและหารือกันหลายวันแล้ว

ส่วนหากเมื่อวานนี้ มีการลงมติกฎหมายการเงินแต่ล่มไปจะส่งผลกระทบกับรัฐบาลหรือไม่นั้น นายวิษณุ ระบุว่า ปกติแล้วหากจะส่งผลต่อรัฐบาลได้ กฎหมายต้องตกไปตั้งแต่วาระที่ 1 หากอยู่ในวาระ 2 แล้วรัฐบาลไม่มีสิทธิเข้าไปชี้แจง ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมและมารยาท ที่ถือปฏิบัติกันมา เพราะเมื่อมีกฎหมายการเงินเข้าสู่การพิจารณาของสภาหากวาระ 1 ไม่ผ่าน เปรียบเสมือนรัฐสภาไม่ไว้วางใจรัฐบาล จะต้องมีการแก้ไขอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ลาออกหรือยุบสภา

 

 

“ชวน” แจงปมองค์ประชุมล่ม เผยส่วนใหญ่อยู่ในห้องประชุม ชี้ไม่แสดงตนอาจเจตนาไม่ลงมติ ยันสภามีมาตรเข้มป้องกันโควิด

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่องค์ประชุมสภาผู้แทนราษฎรล่มเมื่อวานนี้ ว่า ยืนยันว่า การประชุมเมื่อวานครบองค์ประชุม ต้องขอบคุณสมาชิกส่วนใหญ่ยังร่วมมือกันในการทำงาน แต่ว่าในตอนหลังที่ตรวจสอบองค์ประชุม ความจริงแล้วสมาชิกอยู่กันในห้อง บางคนอยู่นอกห้องแต่ทราบว่า มีปัญหาเรื่องพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วัตถุอันตรายที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) กำลังพิจารณาอยู่

ซึ่งมีความเห็นขัดแย้งกับสมาชิก จึงหาข้อยุติไม่ได้ว่าจะถอนหรือลงมติ ในที่สุดสมาชิกส่วนหนึ่งก็คิดว่าจะให้กลับไปทบทวนร่างกฎหมายฉบับนี้ จึงไม่แสดงตน เพราะเกรงว่าลงมติแล้ว จะมีปัญหา ตนไม่ได้แก้ต่างแทน ส.ส.ทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในที่ประชุม แต่ไม่ได้กดบัตรแสดงตน เพราะอาจจะเจตนาไม่ให้มีการลงมติในมาตรา 6

ส่วนกรณีที่ไม่กดบัตรแสดงจะเข้าข่ายผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่ นายชวน กล่าวว่า สภาก็ต้องตรวจสอบและยอมรับในการตรวจสอบอะไรที่มีปัญหาว่าไม่ถูกต้อง ตนเห็นด้วยว่าจะต้องช่วยกันตรวจสอบ แต่ในเรื่องความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดโควิด-19 ของนายวิรัช รัตนเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) สภามีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด

ตนได้ให้ นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร ดูทุกวัน ถึงได้ทราบว่า มีใครในสภาติดโควิดบ้าง เช่น แม่บ้าน คนครัว ซึ่งมีรายชื่อคนติดเชื้อทุกคน โดยนางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาฯ ก็ทำงานเข้มงวดคือไม่ให้คนติดเชื้อกลับเข้ามาในสภา ดังนั้น การคุมคนติดเชื้อเรียกว่าคุมได้ร้อยทั้งร้อย แต่สิ่งที่ห่วงคือเรื่องการมีคนจำนวนมาก โอกาสรั่วไหลอาจจะเป็นไปได้ ก็พยายามอย่าไปย่อหย่อน เรื่องอะไรที่เห็นว่าไม่ถูกต้องก็ต้องพยายามแก้ไข เรื่องที่นายสิระ ได้ร้องเรียนมา

นายชวน กล่าวต่อว่า ตนได้ให้ทางเลขาธิการสภารายงานแล้ว ว่าเรื่องเป็นอย่างไร เราต้องเป็นตัวอย่างปฏิบัติตามมาตรการที่รัฐบาลได้ออกมา ฉะนั้นที่สมาชิกเป็นห่วงว่าเราจะประชุมได้หรือไม่ ตนได้ให้ฝ่ายเลขาธิการสภาประสานไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง นอกจากนี้เพื่อความสบายใจตนยังได้โทรศัพท์ส่วนตัวไปหาเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อถามว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ซึ่งท่านก็บอกว่าไม่มีอะไร เพราะได้อนุมัติไปแล้วว่าสามารถประชุมได้ตลอดสมัยประชุมนี้ เมื่อวานนี้ก็มีสมาชิกปรารภถึงสมาชิกที่อยู่ต่างจังหวัดต้องถูกกักตัว

ขณะเดียวกัน นายชวน กล่าวต่อว่า ตนได้โทรศัพท์คุยกับปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้เลขาธิการสภาทำหนังสือถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย ขอความร่วมมือในทุกจังหวัดในพื้นที่ ที่มีปัญหา ว่าขอให้ความสะดวกกับสมาชิกที่จะมาประชุม ไม่ทำอะไรที่เป็นการกักตัวสมาชิก ทุกเรื่องที่มีปัญหาก็จะคลี่คลายให้ได้ทั้งหมด เพราะเราเสียเวลาเฉพาะ พ.ร.บ.วัตถุอันตรายไปหลายสัปดาห์แล้ว หากไม่ประชุมเราก็ทำงานอย่างอื่นได้แต่เมื่อประชุมแล้วองค์ประชุมไม่ครบก็เสียเวลา คิดว่าผู้เสนอกฎหมายคือรัฐบาลคงไปทบทวนและถ้ายืนยันสัปดาห์หน้าก็คงจะได้ลงมติ

สำหรับการประชุมสามารถออกเสียงให้ถอน พ.ร.บ.วัตถุอันตรายออกได้ แต่เพราะอะไรจึงใช้เทคนิคไม่กดบัตรแสดงตน นายชวน กล่าวว่า ตนก็ได้ถามเหมือนกันและทราบว่ายังหาข้อยุติไม่ได้ ตนได้ถาม กมธ. ว่ากฎหมายนี้มีความจำเป็นเร่งด่วนอย่างไรหรือไม่ ทาง อย. ยืนยันว่า ต้องการด่วนมาก เพราะขณะนี้ใช้มาตรา 44 อยู่ ตนจึงคิดว่าถ้าอย่างนั้นทางฝ่ายผู้ปฏิบัติต้องบอกรัฐมนตรี แต่เผอิญว่ามีหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้องจึงดูเหมือนว่าแต่ละกระทรวงไม่ได้มาเจาะจงดู ปล่อยให้เป็นเรื่องของ กมธ. ซึ่ง กมธ. ก็ขัดแย้งกันเอง ผู้แปรญัตติคือ กมธ. ที่สงวนความเห็น เข้าใจว่าเดี๋ยวคงจะไปทบทวนกัน แต่จะยืนยันหรืออย่างไรก็เป็นสิทธิของฝ่ายเสนอกฎหมาย ซึ่งตนก็ขอให้ไปทบทวนดูอย่าให้เสียเวลาเหมือนเมื่อวาน หากสมมติว่าผ่านไม่ได้จะถอนก็ขออนุญาตที่ประชุม

 

เสรีพิศุทธ์ 1-7-64 สภาล่ม

“เสรีพิศุทธ์” เตือน ส.ส. ขอให้รู้จักหน้าที่ตนเอง หลังสภาล่มวานนี้ ชี้ เลขาฯสภา ติดชื่อประจานเป็นสิ่งที่ไม่ควร

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย กล่าวถึงเหตุการณ์การประชุมสภาผู้แทนราษฎรล่ม เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ว่า ผู้แทนราษฎร ต้องมีหน้าที่ภารกิจหลักคือการประชุม ไม่ใช่ออกไปที่อื่นในระหว่างการประชุม ซึ่งการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในแต่ละครั้งเป็นการประชุม เพื่อให้ ส.ส. แสดงความคิดเห็นเพื่อออกกฎหมายต่างๆ ถ้า ส.ส.ไม่มาประชุมงานจะค้างอยู่ แต่ในช่วง สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การจัดประชุมสภาผู้แทนราษฎร หาก ส.ส.จะไม่มาเพราะกลัวโควิดก็ควรลาประชุม แต่ถ้าลงชื่อครบองค์แล้ว พอถึงเวลาแสดงตนกลับไม่ครบ ตนถือว่าบรรด าส.ส.เหล่านั้น ใช้ไม่ได้ ไม่ทำหน้าที่ของตนเอง จนทำให้สภาล่ม

ทั้งนี้ ตนอยากจะเตือนส.ส.ทุกคน ว่าขอให้รู้จักหน้าที่ของตนเองด้วย ส่วนที่เลขาประธานสภาฯ จะติดชื่อประจานคนไม่แสดงตนนั้น ตนคิดว่าทำอย่างนี้ไม่ถูก เพราะ ส.ส. ที่มาบางคน มีหน้าที่ในการประชุมกรรมาธิการ ด้วย ฉะนั้นเมื่อถึงเวลาแสดงตน ส.ส.ที่ประชุมกรรมาธิการอยู่ก็มาแสดงตนไม่ได้

ดังนั้นจึงฝากถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร การที่จะทำให้ ส.ส. อยู่ในระเบียบเป็นไปตามข้อบังคับ ก็ไม่ควรอ่อนข้อ หากลงชื่อประชุมแต่ไม่มาแสดงตน ก็ควรมีมาตรการจัดการ หากตนเป็นประธานสภาฯ จะให้คณะกรรมาการจริยธรรมตรวจสอบ หาก นายชวน ปล่อยให้เป็นอย่างนี้อีกต่อไป เหตุการณ์สภาล่มก็จะเกิดขึ้นอีก

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube