fbpx
Home
|
ทั่วไป

Do’s & Don’ts หลักปฏิบัติขณะรักษาโควิด-19ในรพ.สนาม

Featured Image

          ปัจจุบันพบอัตราผู้ป่วยโควิด-19 ของประเทศไทยที่เพิ่มจำนวนสูงขึ้นติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง ทำให้การรักษาในโรงพยาบาลหลักเป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง ส่งผลให้ต้องมีการตั้งรพ.สนามไว้รองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อยสำหรับดูแลเพื่อที่จะใช้โรงพยาบาลหลักในการรองรับผู้ป่วยที่มีภาวะอาการหนักแทน

          แต่เมื่อไม่นานมานี้กลับพบผู้ป่วยบางส่วนที่อยู่ระหว่างเข้ารับการรักษาได้ปฏิบัติตัวไม่เหมาะสม เช่น มีการรวมกลุ่มกันเล่นการพนัน รวมกลุ่มกันรับประทานอาหาร ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการเผยแพร่ภาพของผู้ป่วยรายอื่นในลักษณะที่เข้าข่ายอนาจารอีกด้วย ในวันนี้สำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น. จึงได้นำแนวทางปฏิบัติตัวที่ควรทำขณะรักษาตัวอยู่ในรพ.สนาม ซึ่งรศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ให้ข้อมูลไว้มาฝากให้เป็นเกร็ดความรู้

สิ่งที่ควรปฏิบัติขณะรักษาตัวในรพ.สนาม

          สิ่งที่ควรปฏิบัติขณะรักษาตัวในรพ.สนาม 

  1. จัดเตรียมอุปกรณ์ของใช้ส่วนตัวมาเอง
  2. พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อพักฟื้นร่างกาย
  3. สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
  4. อาบน้ำและเปลี่ยนชุดใหม่ทุกวัน
  5. ทิ้งขยะในถังขยะที่จัดวางไว้และปิดฝาทุกครั้ง
  6. งดการรับประทานอาหารร่วมกัน รวมถึงการพูดคุยระยะใกล้ชิด หรือการจับกลุ่มทำกิจกรรม
  7. ร่วมกันรักษาความสะอาด และทำความสะอาดบริเวณที่พัก
  8. เมื่อมีอาการเปลี่ยนแปลงจากเดิม เช่น มีไข้สูง ไอมากขึ้น เหนื่อยให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลทันที

สิ่งที่ห้ามทำขณะรักษาตัวในรพ.สนาม

          สิ่งที่ห้ามทำขณะรักษาตัวในรพ.สนาม

  1. ประพฤติตัวละเมิดสิทธิของผู้อื่น แอบถ่ายภาพของบุคคลอื่นโดยเจ้าตัวไม่อนุญาต
  2. ส่งเสียงโวยวาย รวมไปถึงการประพฤติตัวให้เกิดความรำคาญ
  3. นำอุปกรณ์การเล่นการพนัน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ สารเสพติด อาวุธ และของมีคมติดตัวไปในรพ.สนาม
  4. นำเครื่องดื่มและอาหารทุกชนิดเข้ามาในที่พัก เพราะโรงพยาบาลสนามมีการเตรียมอาหารที่เพียงพอให้ครบทั้ง 3 มื้อ การส่งอาหารจากภายนอก ขึ้นกับข้อกำหนดเฉพาะของแต่ละโรงพยาบาล
  5. นำของมีค่าติดตัวมาด้วย
  6. ย้าย สลับ หรือแลกเตียงกับผู้ป่วยรายอื่น

หลักปฏิบัติขณะรักษาโควิดในรพ.สนาม

          ทำไมต้องไปรักษาที่ รพ.สนาม

          ทั้งนี้สาเหตุที่ต้องมีการย้ายผู้ป่วยไปรักษาที่รพ.สนามนั้นเนื่องจากในปัจจุบันนี้จำนวนผู้ป่วยในรพ.หลักมีมาก ทำให้เตียงไม่เพียงพอสำหรับผู้ป่วยใหม่ โดย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารจัดการเตียงผู้ป่วยโควิด-19ว่า การที่คนไข้ไม่ได้นอนโรงพยาบาลนั้นไม่ได้หมายความว่าเตียงไม่พอ แต่ประเด็นปัญหา คือ 

  1. ไปตรวจโควิดในแลปเอกชน และตรวจเสร็จให้ไปรอที่บ้าน เมื่อโทรแจ้งผลบวก แต่แลปไม่มีเตียงรพ.รองรับในการนอนรักษาไม่ได้ 
  2. รพ.เอกชนบางแห่ง ระบุว่าเตียงไม่มี ไม่ขยายเตียง 
  3. การค้นหาเชิงรุกไปตรวจเชื้อ และให้กลับบ้าน เมื่อเจอเชื้อก็หาเตียงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม นโยบายขณะนี้ คือ ผู้ติดเชื้อทุกราย ต้องได้รับการดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข หากระหว่างรอเตียงอยู่ที่บ้าน จะมีเจ้าหน้าที่โทรเยี่ยม โทรสอบถามอาการทุกวัน เพื่อให้ผู้ติดเชื้อได้รับการดูแลโดยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกราย 

          โดยจากข้อมูลของ กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 18 เม.ย.64  ระบุว่า ได้มีการเตรียมเตียงพร้อมรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ในส่วนของโรงพยาบาล (รพ.) สังกัด สธ. สังกัดกองทัพ รพ.มหาวิทยาลัย และ รพ.เอกชน มีเตียงรองรับ 6,457 เตียง ปัจจุบันใช้ไปแล้ว 4,514 เตียง ยังว่าง 1,943 เตียง อย่างไรก็ตาม ส่วนหนึ่งเก็บไว้สำหรับผู้ป่วยอาการหนัก ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ในส่วนของรายละเอียดเพิ่มเติมอื่นๆนั้น ทุกคนสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่

          สำหรับประชาชนทั่วไปที่ตรวจผลแล้วพบว่าตนเองติดเชื้อโควิด-19 แต่มีอาการไม่รุนแรง ซึ่งเข้าข่ายต้องรักษาตัวใน รพ.สนามนั้น เบื้องต้น นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้แนะนำให้ผู้ป่วยเตรียมสิ่งของดังต่อไปนี้

สิ่งของที่ควรนำติดตัวที่ รพ.สนาม

          สิ่งของที่ควรนำติดตัวที่ รพ.สนาม

  • ปลั๊กไฟ
  • ของใช้ส่วนตัว
  • แบตสำรอง
  • ทิชชู่เปียก
  • สิ่งให้ความบันเทิง (หนังสือ โทรศัพท์ หรือ แท็บเล็ต)
  • หมอน ผ้าห่ม ที่รองนอน
  • ที่ปิดตานอน
  • อาหารเสริม
  • กาน้ำร้อน
  • ขนมต่าง ๆ อาหารแบบพกพา (บาง รพ. สนาม ไม่อนุญาต)
  • ชุดชั้นในสำหรับ 14 วัน

          โดยในแต่ละสถานที่อาจจะมีมาตรการหรือสิ่งของที่ให้แตกต่างกันเล็กน้อย เช่นบาง รพ.สนาม อาจจะเป็นห้องแอร์ บาง รพ. เป็นพัดลม บาง รพ. สนาม อาจมีตู้เก็บของเล็กๆให้ แต่ทุก รพ. จะต้องทำตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข 

          โดย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  เปิดเผยว่า ใน รพ. สังกัด กทม.จะมีการเตรียมเตียงกับมุ้งจาก SCG ชุดเครื่องนอนจากกลุ่มบริษัท ที่นอนโลตัส และเครื่องอุปโภคบริโภค เช่น น้ำดื่ม ของใช้จำเป็น ไว้รองรับ นอกจากนี้จะมีการจัดเตรียมอาหารให้ผู้ป่วยวันละ 3 มื้ออีกด้วย ซึ่งในส่วนของความเป็นอยู่ จะมีการจัดแยกโซนชายหญิง และจัดหาพัดลมให้เตียงละ 1 เครื่อง มีสัญญาณ Wifi รวมไปถึงการดำเนินการป้องกันการติดเชื้อทำเต็มรูปแบบตามมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ซึ่งประชาชนไม่ต้องกังวลเรื่องความเป็นอยู่ กรุงเทพมหานครพร้อมดูแลประชาชนเต็มที่ในทุกด้านรวมไปถึงรักษาความปลอดภัย มีการติดตั้งกล้องวงจรปิด เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคอยดูแลตลอดเวลา ทั้งสำนักงานเขตและเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ในพื้นที่ รวมถึง รปภ. ของศูนย์ด้วย นอกจากนี้ในส่วนของผู้ติดเชื้อที่จะพักอาศัยในโรงพยาบาลสนามนั้นจะมีเจ้าหน้าที่คอยแจ้งรายละเอียดก่อนเข้าพัก มีคิวอาร์โค้ดและแผ่นพับให้สแกนดูรายละเอียดการปฏิบัติตนด้วย ทุกคนสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่

          ต้องอยู่ที่ รพ.สนาม กี่วัน 

          อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในรพ.สนาม จะต้องพักอยู่ภายในเป็นเวลา 14 วัน เพื่อสังเกตและประเมินอาการ หากไม่มีอาการ และได้รับการตรวจจากเจ้าหน้าที่ก็สามารถกลับบ้านได้ หากมีอาการก็ต้องรักษาตัวต่อ

          โดยกรมการแพทย์ ได้ให้ข้อมูลว่า จากผลการศึกษาวิจัย Multicenter clinical trial study ของกรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลราชวิถีและโรงพยาบาลในเครือข่ายวิจัย ได้ชี้แจงข้อมูลเบื้องต้น ดังนี้ ในผู้ป่วย 95 รายจาก 150 รายในช่วงเดือนเมษายนพ.ศ 2564 พบว่าเป็นผู้ป่วยสายพันธุ์ B 1.1.7 อาการดีขึ้นหลังระยะเวลา 10 วัน แต่ยังพบค่าตรวจ rt-pcr ค่อนข้างสูง(ctน้อยกว่า 27) ทั้งนี้การศึกษาวิจัยนี้ยังคงดำเนินการเก็บข้อมูลและวิจัยต่อไป

          ดังนั้นกรมการแพทย์ได้พิจารณาแล้วเห็นได้ว่าผู้ยืนยันโรคโควิด-19 ที่พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนที่กระจายไปทั่วประเทศ จำเป็นต้องให้การรักษาในโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนามหรือฮอสพิเทล อย่างน้อย 14 วันนับตั้งแต่วันที่เริ่มป่วย ถ้ากักตัวครบ 14 วันและยังมีอาการควรให้อยู่โรงพยาบาลต่อไปจนไม่มีอาการอย่างน้อย 24 ถึง 48 ชั่วโมง เพื่อลดการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น หลังจากนั้นแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัย และระมัดระวังสุขอนามัยส่วนบุคคลต่อไปตามมาตรฐานวิถีใหม่

          การกักตัวของผู้สัมผัสโรคแบบความเสี่ยงสูง ให้กักตัว 14 วัน เพื่อให้พ้นช่วงระยะเวลาฟักตัวของโรค และผู้ที่ได้รับการตรวจยืนยันว่าเป็นโรคให้แยกตัวอย่างน้อย 14 วัน ทั้งนี้สามารถปรึกษาแพทย์ได้ หากไม่มั่นใจว่าจะหยุดแยกได้หรือยัง

          ไป รพ.สนาม จะติดเชื้อเพิ่มไหม 

          สำหรับกรณีที่มีประชาชนหลายคนกังวลว่า การที่ผู้ป่วยเข้ามารักษาในรพ.สนาม ในระยะเวลาที่ไม่พร้อมกัน อาจจะยังทำให้การแพร่กระจายของเชื้อยังคงมีอยู่ต่อเนื่องนั้น นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผอ.สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นนี้ โดยยืนยันว่า ในกรณีที่ผู้ป่วยมีเชื้อและรักษาตัวอยู่แล้ว ขณะนี้ยังไม่มีผลวิจัยว่าเชื้อโควิด-19 สามารถติดเชื้อข้ามสายพันธุ์ได้ 

          พร้อมยืนยันว่าการดูแลผู้ป่วยในรพ.สนาม ได้มีการจัดเตียงให้อยู่ในระยะห่างกัน 1.5 เมตร พร้อมเน้นย้ำให้ผู้ป่วยสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา พกเจลแอลกอฮอล์ และแยกกันรับประทานอาหาร ห้ามอยู่รวมกันเป็นหมู่คณะโดยเด็ดขาด หากมีอะไรอัพเดทเพิ่มเติมทางสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น จะรีบมาเสนอให้ทุกได้ทราบอย่างแน่นอน

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube