รู้ก่อนเข้าคูหา สก.คืออะไรต่างยังไงกับ ผู้ว่าฯกทม.?

วันอาทิตย์นี้ถึงเวลา 9 ปีที่รอคอยมานานสำหรับการ ‘เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.’ ที่กำลังจะเปิดคูหาในวันที่ 22 พ.ค. 2565 ซึ่งเป็นการกำหนดคุณภาพชีวิตกรุงเทพฯตลอด 4 ปีข้างหน้า ผ่านการเลือก ผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. หรือ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ที่ต้องกาบัตรในวันเดียวกัน
แล้วทั้ง 2 ตำแหน่งนี้ต่างกันอย่างไร สำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น ขอพาทำความรู้จักให้มากขึ้นกัน
ผู้ว่าฯกทม. ทำหน้าที่อะไร?
สำหรับตำแหน่ง ผู้ว่าฯกทม. มีผู้ดำรงตำแหน่งมาแล้วกว่า 16 คน ตลอด 49 ปี โดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528ในมาตรา 49 กำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
- กำหนดนโยบาย บริหารราชการของกรุงเทพมหานคร ให้เป็นไปตามกฎหมาย
- สั่ง อนุญาต อนุมัติ เกี่ยวกับราชการของกรุงเทพมหานคร
- แต่งตั้งหรือถอดถอนรองผู้ว่าฯกทม. รวมไปถึง เลขานุการ ผู้ช่วยเลขานุการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ปรึกษาหรือคณะที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม. หรือเป็นคณะกรรมการเพื่อปฏิบัติราชการอื่นๆ
- บริหารราชการตามที่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมอบหมาย
- วางระเบียบ เพื่อให้งานของกรุงเทพมหานคร เป็นไปโดยเรียบร้อย
- รักษาการให้เป็นไปตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครและตามที่กฎหมายอื่นกำหนดไว้
ส.ก. คือใคร?
สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือ ส.ก. ทำหน้าที่คล้าย ส.ส.ในรัฐสภา เพียงแต่ทำงานใน สภา กทม. ทั้งหมด 50 คน ซึ่งแต่ละคนจะเป็นตัวแทนจากแต่ละ 50 เขต เขตละ 1 คน โดยมีหน้าที่หลัก คือ คอยตรวจสอบและดูแลการบริหารราชการของ ผู้ว่าฯ กทม. ให้มีความโปร่งใสพร้อมกับช่วยสนับสนุนแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน
ซึ่งหน้าที่แบบละเอียดมีดังนี้
- เสนอและพิจารณาให้ความเห็นชอบในการตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร
- พิจารณาเห็นชอบในร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ว่ามีเหตุผลเหมาะสมอย่างไร
- ควบคุมการบริหารงานของฝ่ายบริหาร ผ่านการ ตั้งกระทู้ถามผู้ว่าฯ กทม. เกี่ยวกับเนื้องาน
- เสนอญัตติเพื่อให้ผู้ว่าฯ กทม. แถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็นในปัญหาอันเกี่ยวกับการบริหารราชการ
- ควบคุมและติดตามผลการบริหารงานของฝ่ายบริหาร สอบสวนหรือศึกษาแล้วรายงานต่อสภากรุงเทพมหานคร
- ร่วมกับฝ่ายบริหารในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน
สรุปแล้ว ทั้ง 2 ตำแหน่งนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อคานอำนาจกันและกันให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่คนกรุงเทพฯ หน้าที่ของ ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร จะคอยเป็นหัวเรือออกนโยบายแก้ไขปัญหาบ้านเมืองต่างๆว่าต้องอย่างไร ใช้งบเท่าไหร่ และ สก. ก็จะเป็นฝ่ายตรวจสอบความเหมาะสมของวิธีการ จำนวนเงิน และรายการแก่ สภากทม. ว่าท้ายที่สุดนี้ ผู้ว่าฯกทม. ที่เราเลือกไปทำงานเต็มที่หรือไม่
เพราะฉะนั้น เข้าคูหาวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคมนี้ อย่าลืมเลือก ผู้ว่าฯกทม. (กาบัตรสีน้ำตาล) ที่มีนโยบายถูกใจ และอย่าลืมเลือก สก. (กาบัตรสีชมพู) ประจำเขตของเราที่คิดว่าจะคอยเป็นหูเป็นตาของเราได้ดีที่สุดด้วยนะ
ติดตามผลการเลือกตั้งและข่าวการเมืองแบบเข้าใจง่ายต่อได้ที่ iNN
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews