fbpx
Home
|
เศรษฐกิจ

กระทรวงคมนาคม MOUพัฒนารถไฟร่วมกับเยอรมนี

Featured Image
กระทรวงคมนาคม MOUพัฒนารถไฟร่วมกับเยอรมนี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม โดยใช้เทคโนโลยีชั้นสูง

 

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายเกออร์ก ชมิดท์เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนาทางวิชาการ GTRA Workshop ครั้งที่ 6 ในหัวข้อ “High Speed Rail: The Changing Face of Thai Railways. In the Series of Railway Technology, Operations and Management” การประกาศก่อตั้งสมาคมระบบรางเยอรมัน – ไทย (German – Thai Railway Association: GTRA) อย่างเป็นทางการ และร่วมลงนามความตกลงว่าด้วยการต่ออายุแถลงการณ์ร่วมแสดงเจตจำนงว่าด้วยการพัฒนาความร่วมมือด้านรถไฟ ระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

 

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การลงนามต่ออายุความตกลงแสดงเจตจำนงฯ ระหว่างสองประเทศ เป็นพลังสร้างสรรค์ที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลไทย โดยกระทรวงคมนาคมมีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม โดยใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านระบบรางที่เป็นรูปแบบการเดินทางที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน กระทรวงคมนาคมจึงได้เร่งพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เช่น รถไฟฟ้าสายสีแดง สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีชมพู สายสีเหลือง สายสีส้ม เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล นอกจากนี้ยังได้พัฒนารถไฟทางคู่ทั่วประเทศ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ลดเวลาการเดินทางและเชื่อมโยงธุรกิจและการค้า รวมถึงพัฒนาโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะเป็นหัวข้อหลักของการสัมมนาในวันนี้ โดยรถไฟความเร็วสูงนั้น ประเทศไทยอยู่ระหว่างก่อสร้าง จำนวน 2 เส้นทาง หากดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถเชื่อมเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางด้านคมนาคมในภูมิภาคต่อไป

 

ประเทศเยอรมนีเป็นหนึ่งในผู้นำด้านอุตสาหกรรมระบบรางที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยได้วิจัยค้นคว้าและผลิตเทคโนโลยีระบบรางมาอย่างยาวนาน โครงการรถไฟฟ้าหลายโครงการได้ใช้เทคโนโลยีจากประเทศเยอรมนี จึงมั่นใจว่าฝ่ายเยอรมนีจะสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางของประเทศไทยเพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย สามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างเท่าเทียมเช่นเดียวกับในเยอรมนี จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่สมาคมระบบรางเยอรมัน – ไทย ได้ก่อตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้ รวมถึงประสานความร่วมมือด้านระบบรางระหว่างเยอรมัน – ไทย ส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกันด้านระบบราง โดยหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะร่วมแบ่งปันประสบการณ์ รวมถึงการแลกเปลี่ยนให้ความรู้และฝึกอบรมในทุกระดับ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบรถไฟในประเทศไทย ให้ประเทศไทยเป็นแหล่งซ่อมสร้าง แหล่งผลิต และแหล่งรวมวิทยาการระบบรางที่เป็นรูปธรรมภายใต้นโยบาย Thai First เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมระบบรางในประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้ต่อไป

กระทรวงคมนาคมได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมแสดงเจตจำนงฯ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2559 โดยแถลงการณ์ร่วมแสดงเจตจำนงฯ มีอายุ 3 ปี และอาจมีการต่ออายุได้อีก 2 ปี อย่างต่อเนื่องกัน ตามความเห็นชอบของทั้งสองฝ่าย ที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายได้ต่ออายุแถลงการณ์ร่วมแสดงเจตจำนงฯ รวม 2 ครั้ง ซึ่งการต่ออายุในครั้งนี้ เริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 ถึงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 แถลงการณ์ร่วมแสดงเจตจำนงฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและกระชับความร่วมมือด้านระบบราง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาการขนส่งทางรถไฟ และระบบขนส่งมวลชนในเมือง ฝ่ายไทยและฝ่ายเยอรมนีได้ร่วมกันจัดกิจกรรมและการดำเนินการต่าง ๆ ภายใต้แถลงการณ์ร่วมแสดงเจตจำนงฯ ได้แก่ การจัดตั้งสมาคมระบบรางเยอรมัน – ไทย ซึ่งได้รับการจดทะเบียน เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยของไทยกับมหาวิทยาลัย RWTH-Aachen และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเดรสเดน (DU-Dresden) แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านการวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้และบุคลากร

 

โดยมีภาคอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัย ผู้ประกอบการด้านรถไฟฟ้า และบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมการประชุมฯ ที่ผ่านมารวมทั้งสิ้น 5 ครั้ง

 

การประชุมเชิงปฏิบัติการหรืองานสัมมนาวิชาการ GTRA Workshop ในครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 6 โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสมาคมระบบเยอรมัน – ไทย ร่วมกันจัดงานสัมมนาฯ ในหัวข้อ “High Speed Rail: The Changing Face of Thai Railways. In the Series of Railway Technology, Operations and Management” โดยเน้นเรื่องเทคโนโลยี การดำเนินงาน และการจัดการรถไฟความเร็วสูง

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube