fbpx
Home
|
คลิปข่าวทั่วไป

หนี้พุ่งของแพงดอกเบี้ยขาขึ้น

ในห้วงจังหวะของแพง ค่าครองชีพสูง ส่งผลต่อต้นทุนการดำเนินชีวิตของประชาชนให้เพิ่มมากขึ้น ปัจจัยดังกล่าวย่อมมีผลกระทบต่อกำลังซื้อ เชื่อมโยงไปยังภาระหนี้สินและลดทอนความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน

 

โดย นายสมชัย จิตสุชน คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า เป็นห่วงกับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยที่เพิ่มสูงขึ้น

 

โดยเฉพาะแนวโน้มในอนาคตกับรายได้ที่มาชำระหนี้ของประชาชน เพราะต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยในอีก 1-2 ปี ข้างหน้า ยังไม่สดใส ขณะที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกปรับขึ้น แต่สำหรับดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะขยับหรือไม่ ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ แต่เป็นไปได้ว่าดอกเบี้ยในตลาดการเงินทั่วไปอาจจะขยับขึ้น

 

ซึ่งตรงนี้ก็จะทำให้ภาระหนี้ขยับสูงขึ้นด้วยเช่นกัน “น่าจะเหมือนทุกคน ก็คือว่าค่อนข้างเป็นห่วงเพราะตัวเลขสูงมาก และน่าจะติดอันดับประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนค่อนข้างสูงในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ใกล้เคียงกัน แต่ที่น่าเป็นห่วงกว่าก็คือ แนวโน้มในอนาคตเพราะว่าการที่หนี้ครัวเรือนจะจัดการได้ดีหรือไม่ ก็ขึ้นกับว่าคนที่เป็นหนี้สามารถมีรายได้เข้ามาได้หรือไม่ สามารถบริหารจัดการหนี้ได้หรือไม่

 

ซึ่งตรงนี้ทุกคนก็รู้ว่าสภาพเศรษฐกิจใน 1 -2 ปีข้างหน้า ก็ยังไม่สดใสเท่าไร ถึงแม้ว่าจะมีเรื่องของการออกจากภาวะโควิด

 

ซึ่งอาจทำให้หลายภาคส่วนเริ่มกลับมามีรายได้ เช่นส่วนที่เกี่ยวโยงกับเรื่องของท่องเที่ยว แต่ในภาพรวมส่วนอื่นก็ยังไม่ดีเท่าไร เพราะว่าเรื่องของเงินเฟ้อ เรื่องของแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง บางคนอาจจะห่วงถึงขึ้นว่าเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือไม่ ซึ่งตรงนั้น จะทำให้เรื่องการส่งออก การลงทุนอาจจะไม่ดีเท่าไร”

 

นายสมชัย กล่าวอีกว่า ภาครัฐจะต้องดูแลกำลังซื้อ ควบคุมราคาน้ำมันผ่านกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อไม่ให้รายจ่ายของประชาชนสูงเกินไป ที่สำคัญภาครัฐจะต้องพยายามให้คนมีงานทำ ซึ่งประเด็นนี้ ยังไม่เห็นนโยบายจากรัฐบาลเลย

 

ขณะที่นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า ในปีนี้ทางกระทรวงการคลัง และรัฐบาลยังคงเร่งแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนให้กับประชาชน

 

โดยการประสานกับหน่วยงานต่างๆ พร้อมจัดตั้งคณะทำงาน เพื่อแก้ไขปัญหาและให้สามารถผ่อนรับชำระหนี้ได้และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยเน้นการแก้ไขปัญหาภาระหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เป็นหลัก

 

โดยเน้นการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ปรับโครงสร้างหนี้ ชะลอการฟ้องร้องเพื่อให้ประชาชนสามารถผ่อนชำระได้ ทำให้ยอดลูกหนี้ที่ไม่สามารถดำเนินการได้กว่า 2 ล้านราย เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้แล้วกว่า 5 แสนราย ก่อนหน้านี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

 

ระบุว่า จากข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานออกมาล่าสุดยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยในปี 2564 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 14.58 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้นประมาณ 3.9% ใกล้เคียงกับการเติบโตของยอดคงค้างหนี้ในปี 2563 ที่ 4.0%

 

ส่วนยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยในปี 2565 จะยังคงเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวในกรอบจำกัด ย่อมทำให้ประชาชน ครัวเรือนรายย่อยยังคงมีความจำเป็นต้องพึ่งพาเงินกู้มาเสริมสภาพคล่องหรือเป็นเงินทุนหมุนเวียนในระยะสั้น ขณะที่ครัวเรือนที่มีกำลังซื้อและมีแผนที่จะซื้อที่อยู่อาศัยอาจเร่งตัดสินใจก่อนที่แนวโน้มดอกเบี้ยไทยจะเปลี่ยนเป็นขาขึ้น

 

ทั้งนี้ โครงสร้างหนี้ครัวเรือนภาพรวม ณ สิ้นปี 2564 หนี้ส่วนใหญ่ของครัวเรือน 3 อันดับแรกยังคงเป็น 1. เงินกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งมีสัดส่วน 34.5% ของหนี้ครัวเรือนรวม 2. เงินกู้เพื่อการประกอบธุรกิจ สัดส่วน 18.1% ของหนี้ครัวเรือนรวม และ 3. เงินกู้เพื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์/รถจักรยานยนต์ สัดส่วน 12.4% ของหนี้ครัวเรือนรวม

 

จากนี้ต่อไปจะต้องติดตามการทำนโยบายแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างใกล้ชิด เพราะปี 2565 เป็นปีที่รัฐบาลประกาศให้เป็นปีแห่งการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้นเอง

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube