fbpx
Home
|
คลิปข่าวทั่วไป

รบ.แก้หมูแพงได้หรือแค่ซื้อเวลา

เปิดศักราชเริ่มต้นปีด้วยตัวเลขเงินเฟ้อเดือนธันวาคม พุ่งสูงถึงร้อยละ 2.17 ผลพวงมาจากราคาอาหารสดโดยเฉพาะเนื้อหมู ปรับราคาสูงขึ้นทะลุกิโลกรัมละ 200 บาท และไม่มีท่าทีว่าจะปรับตัวลดลง เพราะยังไม่สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตเนื้อหมูให้อยู่ในระดับที่เพียงพอกับการบริโภคตลอดทั้งปีได้ โดยกระทรวงพาณิชย์ล่าสุด นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เรียกประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือ กกร. นัดแรกของปี 2565 ถกปัญหาเนื้อหมูราคาแพง โดยใช้เวลานานกว่า 5 ชั่วโมง ออกมาตรการเฉพาะหน้าเร่งด่วนทันที ห้ามส่งออกเนื้อหมูเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม จนถึงวันที่ 5 เมษายน 2565 สั่งผู้เลี้ยงหมูรายใหญ่ และผู้ค้าส่ง ที่มีหมูเกิน 500 ตัวขึ้นไป รวมถึงห้องเย็นที่มีสต็อกหมู ตั้งแต่ 5,000 กิโลกรัม แจ้งปริมาณและราคาทุก 7 วัน มายังกรมการค้าภายใน เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 มกราคมนี้เป็นต้นไป เพื่อดูแลปริมาณเนื้อหมูและสต็อกที่มีอยู่ทั้งประเทศ กระจายออกสู่ตลาด ให้เพียงพอกับการบริโภค ถึงแม้ว่าจะช่วยไม่ได้ทั้งหมด แต่เชื่อว่าสถานการณ์ราคาเนื้อหมูจะไม่พุ่งสูงไปกว่าที่เป็นอยู่ โดยยังไม่พิจารณานำเข้าเพราะจะกระทบกับหลายฝ่ายในวงกว้าง โดยเฉพาะเกษตรกรในประเทศ

 

โดยราคาเนื้อหมูเวลานี้ถึงแม้ว่าจะเป็นราคาที่สะท้อนมาจากต้นทุนที่แท้จริง แต่ราคาถือว่าอยู่ในระดับสูงทำให้ประชาชนเดือดร้อน จึงได้กำชับให้ทางกรมการค้าภายใน บังคับใช้กฎหมายขั้นเด็ดขาดในการควบคุมดูแลการปิดป้ายแสดงราคาอย่างเข้มงวด เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสตัดสินใจก่อนซื้อ หากไม่ปิดป้ายแสดงราคา จะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และหากจำหน่ายเกินราคาป้ายจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ทั้งหมดอาจเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายทางเพราะต้นเหตุจริงๆแล้วเกิดจากกลไกการผลิตที่ไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภคหลังจากประสบปัญหาในเรื่องของโรคระบาด ฟาร์มเลี้ยงขนาดเล็กปิดตัวลงไปเป็นจำนวนมาก ขณะที่ฟาร์มเลี้ยงขนาดใหญ่ผลิตป้อนตลาดไม่เพียงพอ โดยในปีที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานว่า หมูเลี้ยงในระบบ อยู่ที่ 19 ล้านตัว ใช้สำหรับบริโภค 18 ล้านตัว อีก 1 ล้านตัวเป็นการส่งออก และในปีนี้หมูเลี้ยงในระบบ จะเหลือเพียง 13 ล้านตัว หากบริโภค 18 ล้านตัวเท่าเดิม ปริมาณก็ยังขาดอีก 5 ล้านตัว ไม่นับรวมการส่งออก

 

การสั่งเลี้ยงหมูเพิ่มจึงเกิดขึ้น แต่ก็ใช่ว่าจะสามารถทำได้โดยเร็ว เพราะกรมปศุสัตว์ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลการผลิตและการเลี้ยงหมูโดยตรงของเกษตรกร บอกว่า การเพิ่มปริมาณการเลี้ยงต้องทำด้วยความระมัดระวังและอาจมีต้นทุนที่สูงขึ้นเพราะจะต้องใช้ระบบฟาร์มปิด เพื่อป้องกันโรคระบาด โดยที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ จำเป็นต้องสั่งทำลายหมู เพื่อควบคุมโรคเป็นจำนวนมาก ส่งผลทำให้ปริมาณหมูเข้าสู่ตลาดลดลง อย่างน้อยร้อยละ 30 โดยการเลี้ยงหมูหากทำทันทีในเวลานี้ อย่างน้อยอาจต้องใช้เวลา 3 เดือนจึงจะเห็นผลผลิตเติมเข้าสู่ตลาดช่วงเวลาดังกล่าวประชาชนผู้บริโภคยังคงต้องแบกรับภาระราคาเนื้อหมูที่สูงขึ้นแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ราคาจะทะลุถึงกิโลกรัมละ 300 บาทในช่วงตรุษจีน เหมือนที่ประชาชนกังวลหรือไม่ คำตอบอยู่ที่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของรัฐบาล

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube