fbpx
Home
|
ข่าว

ครม.มติขยายระยะเวลาการรยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล

Featured Image
ครม. มติขยายระยะเวลาการรยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ร้อยละ 50 ของรายจ่าย ที่เป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างงานผู้พ้นโทษไม่เกิน 3 ปี

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ร้อยละ 50 ของรายจ่าย ที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างงานผู้พ้นโทษไม่เกิน 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับการปล่อยตัวเข้าทำงาน เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 15,000 บาท/คน/เดือน โดยขยายระยะเวลาออกไปอีก 1 ปี ในรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่ม ในหรือหลังวันที่ 1 ม.ค.64 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. พ.ศ.64

ซึ่งเป็นมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมและจูงใจให้ภาคเอกชน มีส่วนร่วมสนับสนุนการจ้างแรงงานผู้พ้นโทษเข้าทำงาน ช่วยให้ผู้พ้นโทษสามารถพึ่งพาตนเองได้และมีอาชีพ เสริมสร้างเศรษฐกิจในตลาดแรงงานที่ขาดแคลน ลดการพึ่งแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ คาดว่ารัฐจะสูญเสียรายได้ประมาณ 1,935 ล้านบาท โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจ้างงานผู้พ้นโทษ) และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาโดยด่วนแล้วดำเนินการต่อไป

ครม.เห็นชอบมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในระยะเร่งด่วน กรอบวงเงินรวมประมาณ 85,500 ล้านบาท

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในระยะเร่งด่วน กรอบวงเงินรวมประมาณ 85,500 ล้านบาท โดยขยายเพิ่มวงเงินช่วยเหลือช่วยเหลือผู้ประกันตนใน “โครงการ ม 33 เรารักกัน” จำนวนกลุ่มเป้าหมาย ประมาณ 9.27 ล้านคน กรอบวงเงิน 18,500 ล้านบาทโดยประมาณ และผู้มีสิทธิใน “โครงการเราชนะ” มีกลุ่มเป้าหมายประมาณ 32.9 ล้านคน กรอบวงเงิน 67,000 ล้านบาท โดยทั้งสองโครงการจะเพิ่มวงเงินช่วยเหลือให้ประชาชนและผู้ประกันตนตามมาตรา33 สัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นเวลา 2 สัปดาห์ โดยมีระยะเวลาใช้จ่ายสิ้นสุดในวันที่ 30 มิ.ย.2564 นี้

นายอนุชา ยังเผยว่า คณะรัฐมนตรียังเห็นชอบมาตรการในระยะต่อไป เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง โดยมีกรอบวงเงินเบื้องต้น 140,000 ล้านบาท โดยจะเป็นการเบิกจ่ายจาก พ.ร.ก.เงินกู้ฯ ที่ยังคงเหลืออยู่ ดังนี้ คือ มาตรการลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนในกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 สำหรับประชาชนกลุ่มเป้าหมายจำนวน 13.65 ล้านคน โดยช่วยลดภาระค่าครองชีพเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน (ก.ค. – ธ.ค.) และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ จำนวนกลุ่มเป้าหมาย 2.4 ล้านคน เพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน (ก.ค. – ธ.ค.)

มาตรการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนกลุ่มรายได้ปานกลางและรายได้สูง ได้แก่ มาตรการ “คนละครึ่งระยะที่ 3” (Co-pay) ระหว่างรัฐกับประชาชน ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 31 ล้านคน ให้สิทธิ์ใช้จ่ายที่รัฐจะสมทบได้วันละไม่เกิน 150 บาท วงเงินไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน และโครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งดี” โดยรัฐบาลจะสนับสนุน E-Voucher ให้กับประชาชนที่ใช้จ่ายซื้อสินค้า และค่าอาหารเครื่องดื่มและค่าบริการกับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคน โดยภาครัฐจะสนับสนุน E-Voucher ในช่วง ก.ค. – ธ.ค .2564 โดยคาดว่าประชาชนจะเข้าโครงการประมาณ 4 ล้านคน

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube