fbpx
Home
|
ข่าว

ครม.อนุมัติงบฯปี64เยียวยาโควิด 12,576ลบ.

Featured Image

ครม.อนุมัติงบฯปี64 งบกลาง ค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 จำนวนเงินทั้งสิ้น 12,576 ล้านบาท

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 งบกลาง ค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระยะการระบาดระลอก เม.ย.64 จำนวนเงินทั้งสิ้น 12,576 ล้านบาท ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ เพื่อเตรียมความพร้อมการรับมือและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19ได้ทันเวลา ลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวมของประเทศ

ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า จากการติดตามสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีการระบาดทั่วโลกที่ยังคงมีความรุนแรงมากขึ้น สำหรับประเทศไทยได้จัดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโดยมีระบบการเฝ้าระวังกักตัวในสถานที่รัฐจัดให้ หรือ State Quarantine สถานที่กักตัวที่รัฐกำหนด หรือโรงพยาบาลทางเลือก พบว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่ ส่วนใหญ่มาจากการสัมผัสผู้ป่วยยืนยันในสถานบันเทิง, ครอบครัว, สถานที่ทำงาน, ชุมชน และสถานศึกษา ทำให้ประเทศยังมีความเสี่ยงสูงที่จะพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น มีการแพร่กระจายไปยังจังหวัดต่างๆ และมีบางจังหวัดเกิดการติดเชื้อใหม่ในพื้นที่ ทำให้ประเทศไทยต้องเตรียมตั้งรับสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งอาจมีการแพร่กระจายในพื้นที่ใหม่ เพื่อการแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที ป้องกันบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุขจึงได้จัดทำโครงการเตรียมความพร้อมรับมือและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่: กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019(โควิด-19) ระยะการระบาดระลอกเม.ย.64 ประจำปีงบประมาณ 2564 จำนวนเงินทั้งสิ้น 12,576 ล้านบาท

สำหรับโครงการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ คือ เพื่อลดการติดเชื้อใหม่ให้ไม่เกินศักยภาพที่ระบบสาธารณสุขรองรับได้ และเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชากรในประเทศไทย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของประชากรทั้งหมด โดยเฉพาะกลุ่มประชากรผู้สูงอายุ ผู้มีโรคร่วม และกลุ่มเปราะบางหรือด้อยโอกาส ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า นายกรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 5 พ.ค.64 ให้กระทรวงสาธารณสุขเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 งบกลาง ค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระยะการระบาดระลอก เม.ย.64 จำนวนเงินทั้งสิ้น 12,576 ล้านบาท ก่อนเสนอให้ครม.พิจารณา

 

ครม.รับทราบความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ เดือน มี.ค. 64 ตาม สศช.เสนอ

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี รับทราบความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ เดือน มี.ค.64 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. เสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ ในส่วนของความก้าวหน้ายุทธศาสตร์ชาติและการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ทางคณะกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้ประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 64 และที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบกลไกการดำเนินการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับอำนวยการ, ระดับอำนวยการปฏิบัติการ และระดับปฏิบัติการ และได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดจัดตั้งศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดและกรุงเทพมหานคร

ส่วนความก้าวหน้าแผนการปฏิรูปประเทศนั้นอยู่ระหว่างจัดทำรายงานความคืบหน้าประกอบด้วย 3 ส่วน คือ การรายงานความคืบหน้าของเรื่องและประเด็นปฏิรูปตามแผนการปฏิรูปประเทศ, การรายงานประเด็นข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของรัฐสภา และสาระสำคัญของแผนการปฏิรูปประเทศ

 

ครม.รับทราบรายงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2563

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี รับทราบรายงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2563 โดยมีการเบิกจ่ายงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้กับหน่วยบริการจำนวน 140,369.81 ล้านบาท จากงบประมาณ 140,533.42 คิดเป็นร้อยละ 99.88 ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการจำนวน 47.60 ล้านคน จากเป้าหมาย 47.68 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 99.85 มีหน่วยบริการขึ้นทะเบียนจำนวน 12,245 แห่ง

สำหรับผลงานบริการของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น ได้ให้บริการพื้นฐานในงบเหมาจ่ายรายหัว เช่น บริการสุขภาพทั่วไป โดยในส่วนของการใช้บริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในมีผลงานต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากช่วงเดือนมี.ค.-มิ.ย.63 รัฐบาลประกาศมาตรการเว้นระยะทางสังคมจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่วนงานบริการเฉพาะกลุ่ม นอกงบเหมาจ่ายรายหัว เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี มีผลงานการใช้บริการสูงกว่าเป้าหมาย ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง และผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังมีผลงานการใช้บริการต่ำกว่าเป้าหมาย ส่วนความท้าทายในการดำเนินงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่สำคัญ ได้แก่ ผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงจากการระบาดของโควิด-19 , ข้อจำกัดด้านงบประมาณในการบริหารจัดการกองทุน หากเศรษฐกิจถดถอยและชะลอตัว

นอกจากนี้ยังมีรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.62 ของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยพบว่า มีสินทรัพย์ 18,958.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 จำนวน 3,609.29 หนี้สิน 14,380.55 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,468.98 ล้านบาท

 

ครม.รับทราบความก้าวหน้าการดดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองจากไฟป่าและการเผาในที่โล่ง พื้นที่ 17 จังหวัด

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรีรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองจากไฟป่าและการเผาในที่โล่ง ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือปี 2564 โดยสถานการณ์ในภาพรวมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-18 เม.ย.64 พบจุดความร้อนสะสมในพื้นที่ 17 จังหวัด ภาคเหนือจำนวน 58,769 จุด ลดลงจากปี 2563 ที่พบจุดความร้อนสะสมจำนวน 122,687 จุดในช่วงเวลาเดียวกัน หรือลดลงร้อยละ 52 โดยจังหวัดที่พบจุดความร้อนสูงสุดได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน 11,376 จุด, เชียงใหม่ 7,620 จุด, ตาก 7,253 จุด, ลำปาง 5,716 จุดและเพชรบูรณ์ 4,355 จุด

ซึ่งจากการที่พบจุดความร้อนจำนวนมากในเดือน ม.ค.-เม.ย.64 ทำให้จังหวัดภาคเหนือที่ชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควันข้ามแดน โดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย แม่ฮ่องสอน และตาก ทั้งนี้ในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา จังหวัดภาคเหนือ 17 จังหวัด ได้เร่งดำเนินการตามแผนเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง 12 มาตรการ จัดทำ และดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองจากไฟป่าและการเผาในที่โล่งพื้นที่ภาคเหนือปี 2564 ระดับจังหวัด มีการจัดตั้งศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองและจัดประชุมอย่างต่อเนื่องเพื่อบูรณาการทุกภาคส่วนในพื้นที่ในการรับมือสถานการณ์ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการสถานการณ์

ขณะที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจร ประกอบด้วย โครงการบริหารจัดการเชื้อเพลิง “ชิงเก็บ ลดเผา” ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ เพื่อเก็บขนเชื้อเพลิงจากป่าออกมาใช้ประโยชน์ เป็นการลดการเกิดไฟป่า และได้พัฒนาแอปพลิเคชันบริหารการเผาในที่โล่ง (Burn Check) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมทดสอบการใช้งาน และยังได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันส่วนหน้าในจังหวัดเชียงใหม่

 

ครม.รับทราบความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีรับทราบความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยในช่วงเดือน ก.ค.64 นี้ โครงการระบบรถไฟชานเมือง(สายสีแดง)ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน จะเปิดให้ประชาชนใช้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานในพิธีเปิด ก่อนที่จะเปิดให้บริการในเชิงพาณิชย์ในช่วงเดือนพ.ย.นี้ ซึ่งค่าโดยสารของรถไฟชานเมืองสายสีแดงจะเริ่มต้นที่ 12 บาท และสูงสุดที่ราคา 42 บาท ถือเป็นราคาที่ถูกที่สุดในการเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้า

ทั้งนี้ในอนาคตโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง จะต่อขยายเส้นทางเพื่อเติมเต็มโครงข่ายทางรางยกระดับจากกรุงเทพฯไปสู่ปริมณฑล ด้วยส่วนต่อขยาย 4 เส้นทาง ประกอบด้วย โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา, โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ- หัวลำโพง และช่วงบางซื่อ-หัวหมาก โดยมีสถานีกลางบางซื่อเป็นศูนย์กลางระบบรางแห่งใหม่ของไทยที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน เป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายระบบรางทุกรูปแบบ ทั้งรถไฟชานเมืองสายสีแดง รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รถไฟทางไกล และรถไฟความเร็วสูง สู่ทุกภูมิภาคของประเทศ และพื้นที่รอบสถานีกลางบางซื่อ 2,325 ไร่ จะพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ทั้งหมด 9 แปลง โดยมี 5 แปลงที่มีความพร้อมและไม่เกี่ยวข้องกับการเดินรถ

ขณะที่สถานีหัวลำโพง การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ปรับลดจำนวนขบวนรถจาก 118 ขบวนเหลือ 22 ขบวนต่อวัน เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาจราจรในเส้นทางที่รถไฟวิ่งผ่าน โดยเมื่อดำเนินการช่วงต่อขยายเสร็จแล้ว จะทำให้ขบวนรถทั้งหมดวิ่งเข้าสู่สถานีบางซื่อได้ 100% ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาจราจรติดขัดบริเวณจุดตัดเสมอระดับทางในเมืองได้เป็นอย่างดี

ครม.รับทราบการดำเนินการตั้งรพ.สนามที่อิมแพค เมืองทองธานี สำหรับรองรับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเหลือง

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบการดำเนินการตั้งโรงพยาบาลสนามที่อิมแพค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี จ.นนทบุรี โดยจะให้เป็นโรงพยาบาลสนามสำหรับรองรับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเหลือง ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการ แต่อาการไม่รุนแรงและเหนื่อยหอบ หายใจเร็ว จากเดิมผู้ป่วยกลุ่มนี้จะถูกส่งตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลเช่นเดียวกับผู้ป่วยกลุ่มสีแดงซึ่งเป็นกลุ่มมีอาการรุนแรง คือ มีอาการหอบ เหนื่อย หายใจลำบาก ปอดอักเสบรุนแรง มีภาวะปอดบวม

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ประเมินแล้วว่าการตั้งโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองนี้จะช่วยลดภาระของโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนในกรุงเทพฯและปริมณฑล เพื่อให้ส่วนของโรงพยาบาลมีพื้นที่รองรับผู้ป่วยกลุ่มสีแดงที่มีอาการหนักได้มากขึ้น

ส่วนของพื้นที่รองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว คือ ผู้ป่วยที่มีผลยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 แต่ไม่มีอการ หรือมีอาการเล็กน้อย เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก ตาแดง ผื่นขึ้น ซึ่งใช้โรงพยาบาลสนามทั่วไป และHospitel อยู่นั้น เวลานี้มีพื้นที่เพียงพอ จึงยังไม่มีความจำเป็นต้องจัดหาพื้นที่เพิ่ม

ทั้งนี้ น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับข้อมูลโรงพยาบาลสนาม ณ อิมแพค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี จากที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงพื้นที่เพื่อวางแผนนั้น ซึ่งดังกล่าวจะรองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 5,200 เตียง โดยใช้พื้นที่อาคาร 1 และ 2 อาคารละ 2,000 เตียง ส่วนอาคาร 3 เตรียมพร้อมสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการ ซึ่งภายในจะตั้งเต็นท์ความดันลบ มีเครื่องช่วยหายใจ สามารถรองรับได้ 1,200 เตียง หลังจากนี้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เข้าไปจัดการในพื้นที่ ทั้งระบบระบายอากาศ ระบบระบายน้ำ ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบกล้องวงจรปิด ให้ได้ตามมาตรฐานและร่วมกับภาคเอกชนอื่นๆเพื่อติดตั้งสัญญาณอินเตอร์เน็ตต่อไป

ทั้งนี้ น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขยังได้รายงานเกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ว่า ขณะนี้ขั้นตอนการรักษาได้เริ่มมีการให้ยาฟาวิพิราเวียร์สำหรับผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการในระยะเริ่มต้นด้วย เพื่อเป็นการหยุดยั้งการอักเสบของปอด และยืนยันว่าขณะนี้ปริมาณยามีเพียงพอ จากที่มีการนำเข้ามามา 2 ล้านเม็ด ในช่วงปลายเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมีการกระจายไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศทั้งรัฐและเอกชนแล้ว 1 ล้านเม็ด อยู่ในคลังกลางอีก 1 ล้านเม็ด และอยู่ระหว่างการสั่งซื้ออีก 3 ล้านเม็ด จะเข้ามาในประเทศภายในเดือนพ.ค.นี้ และองค์การเภสัชกรรมยังมีแผนการผลิตยาชนิดนี้เองในประเทศอีกด้วย

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube