fbpx
Home
|
ข่าว

ครม.ต่อพรก.ฉุกเฉินร้ายแรง3จชต.อีก3เดือน

Featured Image
ครม. ต่อพรก.ฉุกเฉินร้ายแรง 3 จชต.อีก 3 เดือน – บรรจุลูกจ้างของสธ. เพิ่มรับมือโควิด-19

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยมติคณะรัฐมนตรี เห็นชอบขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่ทุกอำเภอในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยกเว้น อ.แม่ลาน อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี อ.เบตง จ.ยะลา และ อ.สุไหงโก-ลก อ.สุคิริน อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค. 64 – 19 มิ.ย. 64

โดยในการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 64 มีมติเห็นชอบให้เสนอ ครม. เพื่อพิจารณาการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่ดังกล่าวข้างต้นออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค. 64 – 19 มิ.ย. 64 เพื่อเป็นเครื่องมือทางกฎหมายในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ในการป้องกันและระงับเหตุการณ์ได้อย่างทันท่วงที โดยเฉพาะอำนาจในการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย จำนวน 30 วัน เพื่อประโยชน์ในการรวบรวมพยานหลักฐาน รวมทั้งผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป ซึ่งผลจากการประเมินการใช้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ พบว่า ประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐส่วนใหญ่ยังไม่ต้องการให้ยกเลิก พ.ร.ก. ดังกล่าวอีกด้วย

ครม.อนุมัติงบ 438 ล้านบาท ให้ตชด. 7 จังหวัดทำสถานกักตัวแรงงานหลบหนีเข้าเมือง

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 รัฐบาลจึงได้มีการพิจารณาจัดสรรงบประมาณรายจ่ายปี 64 ในส่วนงบกลาง รายการสำรองจ่ายเนื่องในกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อที่จะเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ OQ (Organization Quarantine) สำหรับแรงงานต่างด้าวและผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมือง ของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน

โดยเป็นโครงการปรับปรุงพื้นที่กองร้อย และพื้นที่โรงนอนของกองร้อยเพื่อเปลี่ยนเป็น OQ ทั้งหมด 14 แห่งต่อกองร้อย รวม 7 จังหวัด คือ ตาก เชียงราย ระนอง สงขลา จันทบุรี สระแก้ว และหนองคาย โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 438.08 ล้านบาท แบ่งเป็นการปรับปรุงอาคารกองร้อย 52.87 ล้านบาท การจัดหาเต๊นท์สนาม 250 เตียง งบประมาณ 385.21 ล้านบาท และส่วนอื่นๆ เช่น การจัดการเรื่องอนามัยและสิ่งแวดล้อม การบำบัดน้ำเสีย การจัดทำแนวเขตพื้นที่ควบคุม เป็นต้น

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีอนุมัติการบรรจุลูกจ้างประจำของกระทรวงสาธารณสุขในตำแหน่งอัตราข้าราชการตั้งใหม่ เพื่อรองรับภาวะฉุกเฉินในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งตามมติเดิมของครม. เมื่อวันที่ 15 เม.ย.63  เห็นชอบให้จัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่รวม 38,105 อัตรา  โดยทางกระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการคัดเลือกและบรรจุบุคคลเข้ารับราชการได้จำนวน 34,926 อัตรา คงเหลือ 3,179 อัตรา เนื่องจากมีปัญหาอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถบรรจุบุคคลเข้ารับราชการในอัตราข้าราชการตั้งใหม่ได้ครบ เช่น มีคุณสมบัติไม่ตรงตามตำแหน่งตามมาตรฐานที่กำหนด มีชื่อตำแหน่งที่ได้รับการจ้างงานอยู่เดิมไม่ตรงกับชื่อตำแหน่งในสายงานที่จะเข้ารับการคัดเลือกและบรรจุเข้ารับราชการดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงได้เสนอคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ หรือ คปร. เพื่อขอนำอัตราที่คงเหลือไปบรรจุลูกจ้างประจำของกระทรวงสาธารณสุขในอัตราข้าราชการตั้งใหม่ เพื่อรองรับภาวะฉุกเฉินสถานการณ์การระบาดของโควิด-19

นอกจากนี้ ยังให้กระทรวงสาธารณสุขชี้แจงทำความเข้าใจกับบุคลากรที่จะได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการให้ทราบและเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ต่างๆอย่างถูกต้อง และเมื่อได้ดำเนินการบรรจุบุคลากรครบถ้วนตามที่ได้รับจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่จำนวน 38,105 อัตราแล้ว

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ยังมีมติอนุมัติตามที่สำนักข่าวกรองแห่งชาติเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดสำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้ นายฐนัตถ์ สุวรรณานนท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบงานการข่าว กลุ่มงานที่ปรึกษา ดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ และนายรุ่งศักดิ์ ปิยะรัตน์ ที่ปรึกษาด้านการต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ กลุ่มงานที่ปรึกษา ดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป พร้อมแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จำนวน 3 ราย คือ นายอมร มีมะโน, นายภูวิช ปัญญาสิทธิ์ และนายสมชาย สาโรวาททั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.64 เป็นต้นไป และแต่งตั้ง พล.ต.นพรัตน์ แป้นแก้ว เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง

ครม.เห็นชอบร่างประกาศ หลักเกณฑ์และค่ารักษาพยาบาล โควิด-19 คุ้มครองพนักงานรัฐวิสาหกิจ

นางสาว ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยถึงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมครม.ได้เห็นชอบหลักการร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดย กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการและค่าใช้จ่ายอื่นสำหรับตนเอง คู่สมรส หรือบุตร ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ทางกระทรวงสาธารณสุขกำหนด

พร้อมกันนี้ ยังกำหนดสิทธิให้ได้รับค่าใช้จ่ายจากการรักษาพยาบาลสำหรับตนเอง คู่สมรส หรือบุตร กรณีได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานได้จัดทำงบประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่จะได้รับแล้วพบว่า ตามที่ได้ประมาณการรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีโควิด-19 ของแต่ละรัฐวิสาหกิจไว้ในปี 2564 จำนวน 6,230 ล้านบาทนั้น คาดว่าจะไม่เพิ่มขึ้นจากเดิม และร่างประกาศฉบับนี้จะส่งผลให้พนักงานรัฐวิสาหกิจทั้งหมดรวมกว่า 285,598 คน ได้รับการคุ้มครอง และทำให้สถานพยาบาลได้รับค่าใช้จ่ายโดยเร็วจากรัฐวิสาหกิจ

 

ครม.มติเห็นชอบมาตรการทางการบริหารเพื่อประสิทธิภาพในการดำเนินการทางวินัยและจริยธรรมของข้าราชการ

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า จากที่เป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง ถึงการกระทำที่ไม่เหมาะสม การกระทำผิดของข้าราชการ กรณีชู้สาว ล่วงละเมิดทางเพศ คุกคามทางเพศ และการใช้สื่อออนไลน์ในการล่วงละเมิดทางเพศหรือคุกคามทางเพศ ซึ่งถือเป็นความผิดทางวินัยและจริยธรรมร้ายแรง แต่ในทางปฏิบัติพบว่า มาตรฐานการดำเนินการทางวินัยและจริยธรรมของข้าราชการประเภทต่างๆ ยังมีความแตกต่างกัน ทั้งในเรื่องการนำมาตรการทางการบริหารมาใช้ในการดำเนินการทางวินัย ตลอดจนมาตรฐานการลงโทษที่ลักลั่นกัน ส่งผลให้การดำเนินการขาดประสิทธิภาพ และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการดำเนินการทางวินัยที่ว่า “ยุติธรรม เป็นธรรม รวดเร็ว” ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาความล่าช้าในการดำเนินการทางวินัย และแก้ปัญหาความลักลั่นระหว่างการดำเนินการทางวินัยและมาตรฐานการลงโทษ ครม. จึงมีมติเห็นชอบมาตรการทางการบริหารเพื่อประสิทธิภาพในการดำเนินการทางวินัยและจริยธรรม ตามที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) เสนอ เพื่อให้การดำเนินการทางวินัยและจริยธรรมข้าราชการเป็นมาตรฐานเดียว และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก หากพบข้าราชการกระทำผิดวินัยและจริยธรรมร้ายแรง โดยมีหลักฐานชั้นต้นเพียงพอ ก็ควรให้ออกจากราชการไว้ก่อน

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube