fbpx
Home
|
ข่าว

มท.1ลุยขอนแก่นมอบนโยบายผู้ว่าฯ นายอำเภอ 20 จังหวัด

Featured Image
มท.1 ลงพื้นที่ขอนแก่น มอบนโยบายผู้ว่าฯ นายอำเภอ 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ย้ำ ฝากความหวังทีมปฏิบัติการในพื้นที่บูรณาการส่วนราชการและทุกภาคส่วน

 

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดและมอบนโยบายแนวทางขับเคลื่อนศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ในระดับพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 

โดยพล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับประชาชน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะประเทศของเรายังมีคนที่อ่อนด้อยในสังคม ที่อาจเรียกว่ากลุ่มอ่อนด้อย กลุ่มเปราะบาง เป็นต้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัย ซึ่งไม่ได้หมายถึงเพียงแค่มิติด้านเศรษฐกิจ แต่หมายความรวมถึงความเดือดร้อนด้านต่าง ๆ ที่ประชาชนไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง มีเจตนาเพื่อให้ทุกคนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง

 

เป็นที่มาของการขับเคลื่อนศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) มีเป้าหมายสำคัญ คือ “การแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้าแต่ละครัวเรือน” หรือ “การตัดเสื้อให้พอดีตัว” ด้วยเป้าเดียวกันจากข้อมูลในระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform) หรือ TPMAP มีแนวทางการแก้ปัญหา 5 ด้าน หรือ “5 เมนูแก้จน”ได้แก่

1) สุขภาพ

2) ความเป็นอยู่

3) การศึกษา

4) ด้านรายได้

5) การเข้าถึงบริการภาครัฐ

 

โดยกลไกตั้งแต่ระดับนโยบายถึงระดับปฏิบัติในพื้นที่ ได้แก่ ระดับจังหวัด ผ่านศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัด (ศจพ.จ.) ระดับอำเภอ ผ่านศูนย์อำนวยการปฏิบัติการฯ อำเภอ (ศจพ.อ.) และระดับปฏิบัติการ ผ่านทีมปฏิบัติการฯ ในระดับพื้นที่ (ทีมตำบล) โดยมี “ทีมพี่เลี้ยง” ลงพื้นที่เข้าไปรับทราบปัญหา วิเคราะห์ และหาแนวทางการแก้ไขชั้นต้น ตามหลัก 4 ท คือ ทัศนคติ ทักษะ ทรัพยากร และทางออก รวบรวมและสรุปสภาพปัญหารายงานไปยังทีมตำบล และ ศจพ.อำเภอ เพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหา และลงไปแก้ปัญหาความเดือดร้อน

 

พร้อมต้องติดตามการแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องในลักษณะ Intensive care ด้วยการมีส่วนร่วมของครัวเรือนว่าอยากทำอะไร ไม่ใช่เป็นการไปบังคับให้ทำ เมื่อพี่น้องประชาชนครัวเรือนเป้าหมายร่วมคิด ร่วมทำ โดยภาครัฐร่วมสนับสนุน แม้ว่าผลอาจจะไม่สมบูรณ์ 100% แต่ก็ทำให้ครัวเรือนได้ทราบแนวทางและวิธีการที่จะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งต้องบันทึกข้อมูลใน Logbook ทุกครั้งที่ได้ให้ความช่วยเหลือและพัฒนา เพื่อจะได้มีข้อมูล (Big Data) ในการวิเคราะห์ภาพรวมสภาพปัญหาและแนวทางแก้ไขในอนาคตให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

 

ทั้งนี้ จำเป็นต้องบูรณาการร่วมกันทุกส่วนราชการเพื่อแก้ไขปัญหาแบบ “พุ่งเป้า” เดียวกัน ให้แล้วเสร็จในระดับอำเภอภายในวันที่ 30 ก.ย. 65 นายอำเภอ จึงต้องเป็นขุนศึกสำคัญที่ต้องบูรณาการทุกส่วนราชการ ท้องที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทุกภาคส่วนในระดับอำเภอ แก้ไขปัญหาความเดือดร้อน

 

โดยหากส่วนราชการใดไม่มีหน่วยงานในระดับอำเภอ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัดจัดเจ้าหน้าที่แก้ไขปัญหาร่วมกับอำเภอ รวมทั้งต้องเน้นย้ำให้หัวหน้าส่วนราชการได้เข้าใจแนวทางอย่างถ่องแท้ เพื่อสามารถร่วมบูรณาการแก้ปัญหาได้ตรงตามเป้าหมาย แต่หากเป็นสภาพปัญหาที่ต้องแก้ในระดับนโยบายให้รายงานกระทรวงมหาดไทย นอกจากนี้ ต้องให้ความสำคัญในการสร้างการรับรู้ให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมทั้งหมดผ่านช่องทางการสื่อสารทุกรูปแบบ ทั้ง Online Onsite Onground ให้เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube