fbpx
Home
|
ข่าว

ครม.ปรับเงื่อนไขสินเชื่อช่วยเอสเอ็มอี กู้เงินเพิ่มหวังช่วยเศรษฐกิจ

Featured Image
ครม.อนุมัติปรับเกณฑ์และเงื่อนไขสินเชื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยและเอสเอ็มอีจากผลกระทบโควิด-19 หนุนการเข้าถึงเงินทุนแบ่งเบาภาระชำระหนี้

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ ว่า ที่ประชุมเห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์เงื่อนไขโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019(โควิด19) พร้อมอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับดำเนินโครงการ135 ล้านบาท

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ปรับปรุง ได้แก่ วัตถุประสงค์การกู้ ให้ครอบคลุมถึงการลงทุน ขยายและปรับปรุงกิจการเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจ จากเดิมที่จะให้สินเชื่อเฉพาะการเสริมสภาพคล่องเท่านั้น

ปรับปรุงระยะเวลาการกู้จากเดิมไม่เกิน 5 ปี เป็น ไม่เกิน 10 ปี โดยปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 2 ปี โดยให้รวมถึงลูกหนี้ที่ได้รับสินเชื่อไปก่อนมีการปรับปรุงรายละเอียดครั้งนี้ด้วย โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่ดำเนินโครงการ จะประสานติดต่อลูกหนี้เพื่อดำเนินตามขั้นตอนต่อไป

ปรับปรุงเงื่อนไขการชดเชยของรัฐบาล ที่จะชดเชยความเสียหายที่เกิดจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ร้อยละ 100 สำหรับ NPL ไม่เกินร้อยละ 40 ของวงเงินสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติ จากเดิมที่กำหนดชดเชยร้อยละ 100 สำหรับกรณี NPL ไม่เกินร้อยละ25 และชดเชยร้อยละ 50 กรณี NPL เกินร้อยละ 25 แต่ไม่กินร้อยละ 40

โดยการปรับปรุงเกณฑ์และเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อในครั้งนี้ จะช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายย่อยและเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น และสามารถช่วยแบ่งเบาภาระการผ่อนชำระหนี้เพื่อประคับประคองการฟื้นฟูธุรกิจให้สามารถดำเนินการได้ต่อไป รวมถึงช่วยให้สถาบันการเงินมีความมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากขึ้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอน

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังรายงานว่าโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ได้รับอนุมัติจาก ครม. เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2563 ซึ่ง ณ วันที่ 24 ส.ค. 2564 ธพว. ได้อนุมัติสินเชื่อตามโครงการแล้ว 4,639 ราย เป็นเงิน 8,008 ราย จากวงเงินทั้งโครงการ 10,000 ล้านบาท มีวงเงินคงเหลือ 1,992 ล้านบาท

 

ครม.ไฟเขียวการรถไฟฯ กู้เงิน เพื่อบรรเทาการขาดสภาพคล่องในปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 13,500 ล้านบาท

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ ว่า ที่ประชุมเห็นชอบการกู้เงินของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ประกอบด้วย เงินกู้เพื่อบรรเทาการขาดสภาพคล่องในปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 13,500 ล้านบาท และเงินกู้ระยะสั้น(วงเงินกู้เบิกเกินบัญชี) วงเงิน 800 ล้านบาท โดยให้ดำเนินการคัดเลือกสถาบันการเงินด้วยวิธีขอเจรจาต่ออายุสัญญากู้เงิน ตามความเห็นของกระทรวงการคลัง โดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน รวมทั้งพิจารณาวิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดตามความเหมาะสม

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมรายงานว่า รฟท.ประสบปัญหาขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 รฟท.คาดการณ์ว่าจะมีเงินสดรับ 60,965.26 ล้านบาท และเงินสดจ่าย 74,565.26 ล้านบาท โดยมีเงินสดยกมาจากปี 2564 จำนวน 100 ล้านบาท ส่งผลให้รฟท.ขาดเงินสดไว้ใช้จ่ายในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 13,500 ล้านบาท จึงจำเป็นต้องกู้เงินในจำนวนดังกล่าว เพื่อให้มีเงินสดหมุนเวียนในการใช้จ่ายดำเนินงาน การลงทุน การจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญ และการชำระหนี้เงินกู้ โดยรฟท.คาดว่าจะเริ่มขาดเงินในช่วงเดือนตุลาคม 2564

นอกจากนี้รฟท.มีความจำเป็นต้องกู้เงินระยะสั้น เพื่อให้มีวงเงินสำรองไว้ใช้เสริมสภาพคล่อง โดยทำสัญญาเงินกู้ระยะสั้น วงเงิน 800 ล้านบาท ด้วยวิธีการขอเจรจาต่ออายุสัญญาเงินกู้กับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ตามเงื่อนไขของสัญญาเงินกู้เดิม

 

ครม.ยังมติเห็นชอบกรอบวงเงินกู้ระยะสั้นของ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จำนวน 5,000 ล้านบาท

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ ว่า ที่ประชุมเห็นชอบกรอบวงเงินกู้เงินระยะสั้น ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) จำนวน 5,000 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อให้กฟภ.สามารถบริหารสภาพคล่องทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมหากมีความจำเป็นต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติม ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน

ทั้งนี้กระทรวงมหาดไทยรายงานว่า กฟภ.มีบทบาทสำคัญในการดำเนินมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและภาคธุรกิจคิดเป็นค่าใช้จ่ายเบื้องต้นประมาณ 22,815.30 ล้านบาท ส่งผลให้กฟภ.มีแนวโน้มขาดสภาพคล่องจากการที่ไม่สามารถติดตามจัดเก็บค่าไฟฟ้าได้ ซึ่งจากประมาณการเงินสดประจำปี 2563-2565 ในช่วงเดือนมิถุนายน-ธันวาคม2564 พบว่ากฟภ.มีความต้องการเงินทุนหมุนเวียนประมาณ 5,325.16-7,946.44 ล้านบาท

ขณะที่กฟภ.มีลูกหนี้ค่าไฟฟ้าค้างสะสม ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 รวมเป็นเงินประมาณ 42,427.59 ล้านบาท แยกเป็นส่วนราชการ 4,411.64 ล้านบาท ,เอกชนรายใหญ่ 25,230.99 ล้านบาท และเอกชนรายย่อย 12,784.96 ล้านบาท

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube