fbpx
Home
|
ข่าว

“วิโรจน์”จี้รบ.เผยสัญญาส่งมอบวัคซีนแอสตราฯ

Featured Image
“วิโรจน์” จี้รัฐบาลเปิดเผยสัญญาการส่งมอบวัคซีนแอสตราเซเนกา พร้อมตั้งข้อสังเกตทำไมการสั่งซื้อวัคซีนยี่ห้ออื่นจึงไม่เร็วเหมือนกับวัคซีนซิโนแวค

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวว่า การส่งมอบวัคซีนแอสตราเซเนกา ที่มีกำหนดต้องส่งมอบในเดือน มิ.ย. ที่มีจำนวน 6.3 ล้านโดส จากข้อมูลที่ปรากฎที่จัดทำขึ้นโดยกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. พบว่ามีการส่งมอบเพียง 5.3 ล้านโดส เท่านั้น ยังขาดการส่งมอบอีก961,900โดส ยอดที่ขาดส่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลจะต้องไปเร่งติดตามมาให้ได้ ที่น่ากังวลก็คือ ข่าวที่เพิ่มเติมออกมาว่า ตั้งแต่เดือนก.ค.เป็นต้นไป แอสตราเซเนกาประเทศไทย จะเริ่มส่งออกวัคซีนไปยังประเทศต่างๆ

โดย  1ใน 3 ของกำลังการผลิต จะสำรองไว้ให้กับประเทศไทย นั่นหมายความว่าจากกำลังการผลิต180-200ล้านโดสต่อปี หรือ15-17ล้านโดสต่อเดือนจะส่งมอบให้กับประเทศไทยเพียงแค่5-6ล้านโดสต่อเดือนเท่านั้น แล้วแผนการจัดหาวัคซีนที่รัฐบาลประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบโดยทั่วกันผ่านหลายช่องทาง เท่ากับว่าแอสตราเซเนกาไม่สามารถส่งมอบวัคซีนได้ตามแผนการส่งมอบที่รัฐบาลกำหนดได้

โดยนายวิโรจน์ ยืนยันว่าประเทศไทยมีความชอบธรรมที่จะได้รับวัคซีนจากแอสตราเซเนกาประเทศไทย เดือนละ10ล้านโดส ส่วนที่เหลืออีก5-6 ล้านโดส สามารถนำส่งออกไป การที่แอสตราเซเนกาประเทศไทย จะส่งมอบให้กับประเทศเพียงแค่ 5 ล้านโดสต่อเดือน เป็นการไม่ยุติธรรมต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของเงิน600ล้านบาท ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องเปิดเผยสัญญาระหว่างรัฐบาลไทยกับแอสตราเซเนกาประเทศไทย ว่ามีเงื่อนไขนี้บรรจุอยู่หรือไม่

นายวิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า จากการประเมินของผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน รัฐบาลรู้อยู่แก่ใจว่า สถานการณ์การระบาดขณะนี้ ประเทศกำลังเผชิญหน้ากับเชื้อสายพันธุ์เดลต้า ปัจจุบันพบผู้ป่วยติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าในพื้นที่ กทม. แล้วถึง70%

และคาดการณ์ว่าจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักในพื้นที่ กทม. ในเดือน ก.ค.-ส.ค. นี้ ที่น่ากังวลคือ ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญออสเตรเลียที่ระบุว่า เชื้อสายพันธุ์เดลต้าสามารถแพร่จากคนสู่คน โดยใช้เวลาเพียงแค่ 10 วินาที เท่านั้น แต่แทนที่รัฐบาลจะเร่งจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อกลายพันธุ์ โดยเฉพาะเชื้อสายพันธุ์เดลต้า รัฐบาลกลับยังคงยืนกรานที่จะจัดซื้อวัคซีนซิโนแวค

นายวิโรจน์ ระบุอีกว่า ปัจจุบันประเทศไทยจัดหาวัคซีนซิโนแวคมาแล้ว19.5ล้านโดส โดยรับบริจาคจากประเทศจีนมา1ล้านโดส มีมติ ครม. เพียง 2.5 ล้านโดส ที่เหลือ 16 ล้านโดส คาดว่าใช้งบประมาณ 10,291 ล้านบาท แต่ไม่ปรากฏมติ ครม. ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นมติลับ และไม่เข้าใจว่าทำไมต้องลับ หรืออาจเกี่ยวข้องกับประเด็นในเรื่องราคาวัคซีน ที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ราคาวัคซีนซิโนแคที่รัฐบาลไทยซื้อ อาจแพงกว่าประเทศอื่น ในประเด็นนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องชี้แจงว่า ราคาที่แท้จริงของซิโนแวคราคาโดสละเท่าไหร่ แพงกว่าที่ประเทศอื่นซื้อหรือไม่ และเพราะเหตุใด

ส่วนกรณีการจัดหาวัคซีนชนิดอื่น เช่น mRNA ที่มีประสิทธิภาพกว่านั้น จากการให้สัมภาษณ์ของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ระบุว่า “การพิจารณาเรื่องวัคซีนในประเทศไทยจะต้องผ่านความเห็นจากคณะกรรมการวิชาการวัคซีน เพื่อวางแนวทางเรื่องการใช้วัคซีนใด วิธีใด ห่างกันอย่างไร แล้วแจ้งมติมายัง สธ. เพื่อให้แพทย์ปฏิบัติตาม แม้แต่อธิบดีกรมการแพทย์จะฉีดวัคซีนตามใจตัวเอง หรือแพทย์จะฉีดตามความเชื่อส่วนตัวก็ไม่ได้

ตนและ สธ. มีหน้าที่ปฏิบัติตามแนวทาง หากคณะกรรมการบอกว่าต้องซื้อวัคซีนชนิดใดเพิ่ม ก็จะต้องไปเร่งนำเข้า ครม. หางบประมาณมาเพิ่มเติม และพยายามจัดหามาให้มากที่สุด” ซึ่งควรออกมาชี้แจงต่อกรณีที่รัฐบาลยังคงยืนยันที่จะซื้อวัคซีน ซิโนแวคเพิ่มเติม รวมทั้งตอบข้อเสนอแนะของทั้งราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ และสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย เพราะการจัดซื้อวัคซีนซิโนแวคอีก 28 ล้านโดส ต้องใช้งบประมาณสูงถึง 18,009.6 ล้านบาท และที่สำคัญที่สุด คือ เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับความเป็นความตายของบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าทั้งประเทศ และประชาชน

ทั้งนี้นายวิโรจน์ กล่าวว่าทำไมการสั่งซื้อวัคซีนยี่ห้ออื่นจึงไม่เร็วเหมือนกับวัคซีนซิโนแวคที่เหมือนไม่มีการติดขัดใดๆ รัฐบาลไม่สามารถอ้างได้ว่าความล่าช้านั้นเกิดจากการที่ต้องดำเนินการตามขั้นตอน เพราะกรณีของวัคซีนซิโนฟาร์มสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วได้

 

“วิโรจน์” จี้รัฐบาลเร่งตรวจหาเชื้อเชิงรุก แนะกำหนดหลักเกณฑ์ในการล็อกดาวน์ และผ่อนคลาย คำนึงถึงสถานการณ์การติดเชื้อและขีดความสามารถของสาธารณสุข

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงข้อเรียกร้องโดยระบุว่าให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเร่งดำเนินการตามที่ได้สั่งการไว้ คือ การบริหารจัดการวัคซีน ให้ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีน พ.ศ. 2561 ในการบังคับให้แอสตราเซเนกาประเทศไทยส่งมอบวัคซีนให้เป็นไปตามแผนการส่งมอบเดือนละ 10 ล้านโดส ตามเงื่อนไขที่รัฐบาลอุดหนุนให้กับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ 600 ล้านบาท ,ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ และสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย จัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลต่อเชื้อสายพันธุ์เดลต้า และเชื้อกลายพันธุ์ต่างๆ เช่น วัคซีนชนิด mRNA และวัคซีนชนิด Viral Vector มาแทนวัคซีนซิโนแวค และต้องยุติการสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวค

รวมถึงต้องเปิดเผยสัญญาและเงื่อนไขข้อตกลงการสั่งซื้อวัคซีน ที่รัฐบาลได้ทำไว้กับแอสตราเซเนกาประเทศไทย และซิโนแวค รวมถึงมติ ครม. ที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาวัคซีนทั้งหมด เร่งจัดฉีดวัคซีนเสริมภูมิให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า และเร่งปรับปรุงระบบฐานข้อมูลการลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีน ให้เชื่อมต่อกับระบบฐานข้อมูล MOPH IC ของกระทรวงสาธารณสุข

เรื่องการบริหารจัดการเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ของระบบสาธารณสุข และการดูแลชีวิตของประชาชน ต้องเร่งดำเนินการมาตรการการกักตัวรักษาตนเอง หรือ Home Isolation โดยมีระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ที่ติดตามอาการ สั่งจ่ายยาโดยแพทย์ และมีระบบในการจัดส่งยาให้กับผู้ป่วยถึงบ้าน มีระบบติดต่อฉุกเฉิน (Emergency Call) และมีระบบจัดส่งอาหาร (Food Delivery) ให้กับผู้ป่วยตลอดระยะเวลาที่กักตัวรักษาตนเองที่บ้าน และพิจารณาอนุญาตให้ผู้ป่วยที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาลที่ยังไม่ครบระยะเวลา 14 วัน แต่ไม่มีอาการ หรือมีอาการไม่มากในกรณีที่เข้าเงื่อนไขที่สามารถกักตัวรักษาตัวเองได้ ให้กักตัวรักษาตนเอง เพื่อจัดสรรเตียงให้กับผู้ป่วยที่มีอาการปานกลาง และอาการหนัก

รัฐบาลควรเร่งตรวจเชิงรุกด้วย Rapid Antigen Test พร้อมกับอนุญาตให้ประชาชนได้เข้าถึงชุดตรวจที่ผ่านมาตรฐาน อย. เพื่อตรวจหาเชื้อด้วยตัวเอง เพื่อแยกผู้ติดเชื้อมารักษา สกัดกั้นการระบาด และรัฐบาลทราบอยู่แล้ว ว่า การจัดฉีดวัคซีนที่ล่าช้ามีมูลค่าความเสียหายสูงถึงเดือนละ 200,000 ล้านบาท จากการที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ทำหนังสือแจ้งให้ พล.อ.ประยุทธ์ อันโอชา นายกรัฐมนตรี ทราบด้วยตัวเอง

ดังนั้นการที่รัฐบาลปล่อยปละละเลย จนเกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงกับประชาชน รัฐบาลต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ประกอบกับที่ผ่านมา ตั้งแต่กรณี สนามมวย คณะ VIP บ่อนการพนัน การลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย การลักลอบการค้าแรงงานต่างชาติ ล้วนเป็นการละเลยของรัฐบาลทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจะต้องเยียวยาให้กับประชาชนทั้งที่เป็นแรงงานในระบบ และแรงงานนอกระบบอย่างเป็นธรรม รวมทั้งชดเชยความเสียหายให้กับผู้ประกอบกิจการ

โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ทั้งการยกเว้นค่าน้ำ ค่าไฟ และชดเชยค่าเช่าสถานที่ โดยให้จ่ายชดเชยตามจริง โดยไม่เกินสัดส่วนหนึ่ง เช่น ร้อยละ 20 ของรายได้ ณ เดือนก่อนที่จะมีการระบาดระลอกที่ 3 เป็นต้น สำหรับร้านค้า หรือกิจการที่ถูกปิดไปก่อนหน้านี้ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลชดเชยย้อนหลังด้วย

ทั้งนี้นายวิโรจน์ระบุว่า สุดท้าย ขอเรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดหลักเกณฑ์ในการล็อกดาวน์ และผ่อนคลาย โดยคำนึงถึงสถานการณ์การติดเชื้อและขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขในแต่ละพื้นที่ แบบเป็นขั้นบันได เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงสถานการณ์ และวางแผนรับมือด้วยตัวเองส่วนหนึ่งได้ และมีส่วนร่วมกับรัฐบาลในการคลี่คลาย และบรรเทาสถานการณ์การแพร่ระบาดด้วย

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube