fbpx
Home
|
ข่าว

ศบค.ต่อพรก.ถึง30พ.ย. ลดเคอร์ฟิว 4 ทุ่ม ถึง ตี 4

Featured Image
ศบค. ขยายระยะเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถึง 30 พฤศจิกายน นี้ คงเคอร์ฟิวต่ออีก 15 วัน ปรับเวลาเคอร์ฟิวเป็นระหว่าง 22.00-04.00 น. – ให้เปิด 9 กิจการ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) หรือ ศบค. ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ถึงวันที่ 30 พ.ย. นี้ ลดระยะเวลาห้ามออกนอกเคหสถานเป็น 22.00-04.00 น. และให้เปิดร้านเสริมสวย นวดสปา สถานเสริมความงาม โรงภาพยนตร์ เล่นดนตรีในร้านอาหารได้ตามปกติ เริ่ม 1 ต.ค. นี้

นายกฯกล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 มีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังคงต้องไม่ประมาท ยังต้องเดินหน้าฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ทั่วถึง ติดตามการกระจายเวชภัณฑ์ ขณะเดียวกันก็จะขยายรูปแบบ Sandbox ในส่วนกิจการ/กิจกรรมอื่น ๆ ให้มากขึ้น อาทิ ปรับกิจกรรมภายในโรงแรมเพื่อรองรับการท่องเที่ยว เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดรับนักท่องเที่ยวและการเปิดประเทศต่อไปนับตั้งแต่การระบาดระลอกแรก ภาคแรงงานและภาคประชาชนได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิด–19 มากขึ้น ภาคเอกชนได้เตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ขอฝากให้ สธ. ช่วยพิจารณาช่วยเหลืออุตสาหกรรมบันเทิง/ศิลปินพื้นบ้าน

 

อย่างไรก็ตาม นายกฯ ยังดีใจที่ไทยสามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 รายวันได้เกิน 1 ล้านโดส มั่นใจไทยมีศักยภาพในการฉีดวัคซีนได้บรรลุตามเป้าหมาย โดยฝากให้กระทรวงสาธารณสุขช่วยดูแลการบริหารจัดการวัคซีนสำหรับเด็กเล็กด้วย พร้อมยังรับทราบแผนการฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับชาวต่างประเทศและแรงงานต่างด้าวโดยจะเริ่ม 1 ตุลาคม นี้ ซึ่งยืนยันว่า รัฐบาลได้ดำเนินการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 อย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมแผนการช่วงเปลี่ยนผ่านของโควิด-19 จากการระบาดใหญ่ทั่วโลก หรือ Pandemic สู่โรคประจำถิ่น Endemic ซึ่งต้องขอให้แต่ละฝ่ายถอดบทเรียนการทำงานในแต่ละช่วงของการแพร่ระบาด เพื่อเป็นแนวทางในการรองรับสถานการณ์ในอนาคตด้วย

นายกฯ ยังได้กล่าวขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกระดับ ภาครัฐ ภาคเอกชน คณะที่ปรึกษา ที่ร่วมกันทำทำงานหนักมาตลอดระยะ 2 ปี ทำให้สถานการณ์โควิด-19 ในไทยมีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังยืนยันว่าที่ผ่านมา รัฐบาลให้ความสำคัญและเห็นถึงความจำเป็นในการจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ในไทย และการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ทั้งภายในปี 2564 และต่อเนื่องสำหรับการจัดหาวัคซีนในปี 2565 ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องด้วย ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของเราทุกคน เพื่อร่วมกันเดินหน้า พลิกโฉมประเทศไทย

 

ศบค.แถลง คง พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 2 เดือน เคอร์ฟิว ต่อ 15 วัน ลดเวลา จาก 3 ทุ่มถึงตี4 เป็น 4 ทุ่ม ถึง ตี 4 ให้เปิด 9 กิจการ

นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นชอบการพิจารณาขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรครั้งที่ 14 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.จนถึงวันที่ 30 พ.ย.64 พร้อมปรับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้เปิดได้ ประกอบด้วย
1.ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและเด็กอ่อนก่อนวัยเรียน

2.ห้องสมุดสาธารณะ, ห้องสมุดชุมชน, ห้องสมุดเอกชนและบ้านหนังสือ

3.พิพิธภัณฑ์, พิพิธภัณฑ์สถาน, พิพิณฑ์ท้องถิ่น รวมถึงพิพิธภัณฑ์ ในลักษณะเดียวกัน

4.ศูนย์การเรียนรู้ หรือศูนย์ควบคุมวิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา, อุทยานวิทยาศาสตร์ เปิดได้ต้องจำกัดจำนวนคน เช่น 1 คนต่อ 4 ตารางเมตร หรือเข้าชมได้ไม่เกิน 75% ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ห้ามรับประทานอาหาร

5.ร้านทำเล็บ เปิดดำเนินการได้ โดยนัดหมายล่วงหน้า

6.ร้านสัก เปิดดำเนินการได้โดยนัดหมายล่วงหน้า ซึ่งลูกค้าต้องได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์หรือมีATK/ Rt-PCR ผลเป็นลบภายใน 72 ชั่วโมง

7.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพนวดสปาเปิดดำเนินการได้โดยนัดหมายล่วงหน้าจำกัดเวลาบริการไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อคน สามารถเปิดบริการที่ใช้น้ำเพื่อสุขภาพในกิจการสปาภายใต้พระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ2559 โดยลูกค้าได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์หรือมี ATK/ Rt-PCR ผลเป็นลบภายใน 72 ชั่วโมง และยังไม่เปิดบริการอบไอน้ำ

8.ธุรกิจโรงภาพยนตร์ เปิดดำเนินการได้ถึง 21:00 น. ลดจำนวนเหลือ 50% นั่ง แต่ถ้ามาด้วยกันให้นั่งด้วยกันได้ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ไม่รับประทานอาหาร

9.การเล่นดนตรีในร้านอาหาร จำกัดจำนวนนักดนตรีไม่เกิน 5 คนนักดนตรีสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาห้ามสัมผัสคลุกคีกันระหว่างนักร้องนักดนตรีและลูกค้า แต่ยังไม่เปิดศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุมยังไม่เปิดดำเนินการให้มีการติดตามสถานการณ์ 2-4 สัปดาห์ เนื่องจากทำให้มีการเดินทางร่วมอบรมสัมมนาจากหลายพื้นที่และรวมกลุ่มคนจำนวนมาก

สำหรับ การปรับเงื่อนไขมาตรการสำหรับกิจการหรือกิจกรรมหนึ่งการห้ามออกนอกเคหะสถานเวลา 22:00 น. ถึง 04:00 น. อย่างน้อย 15 วัน, ศูนย์การค้าห้างสรรพสินค้าเปิดบริการได้ถึง 21:00 น. โดยให้เปิดสถาบันกวดวิชาได้ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือ กทม.ให้เปิดโรงภาพยนตร์, สปา,ห้องออกกำลังกาย, ฟิตเนส, สระว่ายน้ำได้แต่ยังไม่เปิดดำเนินการทุกเกมเครื่องเล่นร้านเกมสวนสนุกสวนน้ำและห้องประชุมจัดเลี้ยง ,ร้านสะดวกซื้อตลาดสดหรือตลาดนัทเฉพาะจำหน่ายเครื่องอุปโภคบริโภคเปิดดำเนินการได้ถึงเวลา 21:00 น.,กีฬากลางแจ้งหรือในร่มที่เป็นที่โล่งเปิดดำเนินการได้ทุกประเภทกีฬาไม่เกิน 21:00 น. โดยจำกัดจำนวนผู้เข้าชมกรณีประเภทกีฬาในร่มจัดการแข่งขันได้โดยไม่มีผู้ชมกรณีประเภทกีฬากลางแจ้งจัดให้มีผู้ชมไม่เกิน 25% ของความจุสนามและผู้ชมต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์หรือมี ATK/ Rt-PCR ผลเป็นลบภายใน 72 ชั่วโมง

ศบค.ยังคงพื้นที่แดงเข้ม 29 จังหวัด ปรับมาตรการเดินทางเข้าประเทศ-ท่องเที่ยว เริ่ม 1 ตค.นี้ ขยายพื้นที่นำร่อง

นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธินโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. กล่าวว่า สถานะสีแต่ละจังหวัดยังคงเดิม คือ พื้นที่สีแดงเข้มหรือพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด, พื้นที่ควบคุมสูงสุด สีแดง 37 จังหวัด และพื้นที่ควบคุม สีส้ม 11 จังหวัด

โดยนายแพทย์ทวีศิลป์ ระบุว่า ที่ประชุมมีการปรับมาตรการสำหรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักรและพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว ซึ่งมีการปรับลดระยะเวลาการกักตัวสำหรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศในสถานที่กักกันทุกรูปแบบ รวมทั้งผู้ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นจังหวัดนำร่องด้านการท่องเที่ยว โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. นี้

โดยผู้ที่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์อย่างน้อย 14 วัน ทุกช่องทางกรณีทางน้ำต้องมีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนทุกคน ต้องกักตัวหรือเข้าพื้นที่ท่องเที่ยวอย่างน้อย 7 วัน การตรวจหาเชื้อต้องตรวจหาด้วยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง, กรณีไม่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์หากเดินทางมาจากทางอากาศและทางน้ำต้องกักตัวอย่างน้อย 10 วัน ต้องตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง หากเดินทางทางบกต้องกักตัวอย่างน้อย 14 วัน และต้องตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง

ด้านจังหวัดที่กำหนดเป็นพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวในแต่ละระยะหรือพื้นที่สีฟ้า ระยะนำร่อง 4 จังหวัด ดำเนินการในพื้นที่นำร่องเดิม คือ จังหวัดภูเก็ต, สุราษฎร์ธานี ที่เกาะสมุย, เกาะพะงันและเกาะเต่า, จังหวัดพังงา ที่เขาหลักและเกาะยาว และจังหวัดกระบี่ ที่เกาะพีพี, เกาะไหง, ไร่เลย์, คลองม่วงและทับแขก ระยะที่หนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 1-30 พ.ย.64 พื้นที่ 10 จังหวัด คือกรุงเทพมหานคร, กระบี่ทั้งจังหวัด, พังงาทั้งจังหวัด, ประจวบคีรีขันธ์ ที่ตำบลหัวหินและหนองแก, จังหวัดเพชรบุรี ที่เทศบาลเมืองชะอำ, จังหวัดชลบุรี ที่พัทยา, อำเภอบางละมุง ตำบลนาจอมเทียน และตำบลบางเสร่, จังหวัดระนอง ที่เกาะพยาม, จังหวัดเชียงใหม่ ที่อำเภอเมือง, อำเภอแม่ริม, แม่แตง และดอยเต่า, จังหวัดเลย ที่เชียงคาน และจังหวัดบุรีรัมย์ ที่อำเภอเมือง ระยะที่สองตั้งแต่วันที่ 1-31 ธ.ค.64 จำนวน 20 จังหวัด คือ เชียงราย, แม่ฮ่องสอน, ลำพูน, แพร่, หนองคาย, สุโขทัย, เพชรบูรณ์, ปทุมธานี, อยุธยา, สมุทรปราการ, ตราด, ระยอง, ขอนแก่น, นครราชสีมา, นครศรีธรรมราช, ตรัง, พัทลุง, สงขลา, ยะลา และนราธิวาส ระยะที่สามตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.65 เป็นต้นไป เพิ่ม 13 จังหวัด คือ ที่จังหวัดสุรินทร์, สระแก้ว, จันทบุรี, ตาก, นครพนม, มุกดาหาร, บึงกาฬ, อุดรธานี, อุบลราชธานี, น่าน, กาญจนบุรี, ราชบุรีและสตูล

โดยจังหวัดนำร่องจะต้องมีความครอบคลุมการได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ อย่างน้อย 50% และในกลุ่ม 608 อย่างน้อย 80% อัตราของครองเตียงผู้ป่วยเหลืองแดง ไม่เกิน 80% ด้านพื้นที่นำร่องให้ใช้พื้นที่เป็นหลักมากกว่าทำทั้งจังหวัด โดยต้องครอบคลุมการได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์อย่างน้อย 70% และในกลุ่ม 608 อย่างน้อย 80% และกิจกรรมหรือกิจการที่รองรับนักท่องเที่ยว ต้องครอบคลุมการได้รับวัคซีนอย่างน้อย 80% มีการเฝ้าระวังต่อเนื่องและไม่พบผู้ติดเชื้อในกิจกรรมหรือกิจการในช่วง 14 วันที่ผ่านมา

 

ศบค.พบป่วยใหม่ 10,288 ราย สะสม1,571,926 ราย เสียชีวิตอีก 101 รักษาหายแล้ว 1,435,401 ราย ขณะฉีดวัคซีน 50.56 ล้านโดส

นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. รายงานตัวเลขสถานการณ์ประจำวันจันทร์ที่ 27 กันยายน 2564 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 28 ของโลก พบผู้ติดเชื้อรายใหม่รวม 10,288 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยรายใหม่ 10,161 ราย ผู้ป่วยในเรือนจำ 127 ราย พบผู้ป่วยยืนยันสะสมทั้งหมด 1,571,926 ราย รักษาอยู่ 120,156 ราย รักษาในโรงพยาบาล 33,759 ราย และโรงพยาบาลสนาม 86,397 ราย เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 3,341 ราย และต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 728 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 1,435,401 ราย หายเพิ่ม 12,494 ราย เสียชีวิตใหม่ 101 ราย รวมเสียชีวิต 16,369 คน

ซึ่งผู้ติดเชื้อรายใหม่แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 10,149 ราย เป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศเข้า State Quarantine 12 ราย เป็นการค้นหาเชิงรุก/โรงงานและในชุมชน 969 ราย ค้นหาเชิงรุกในเรือนจำ 127 ราย และเข้าระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 9,180 ราย

ด้านยอดการฉีดวัคซีนในประเทศไทยรวม 50,566,651โดส สะสมแบ่งเป็นฉีดวัคซีนเข็มแรก 31,548,310 ราย เพิ่มขึ้น 62,276 ราย เข็มที่สองจำนวน 17,891,858 ราย เพิ่มขึ้น 97,061 ราย และเข็มที่สามสะสมจำนวน 1,125,675 ราย เพิ่มขึ้น 16,586 ราย

ทั้งนี้นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวว่า ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีการระบุในที่ประชุมว่าพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑลและต่างจังหวัด การติดเชื้อภาพรวมลดน้อยลง แต่ยังน่ากังวลใจการติดเชื้อในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube