fbpx
Home
|
ทั่วไป

สรุป ลดคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาท เริ่มแล้ว 11 ส.ค. 64 นี้

Featured Image

          วันที่ 11 สิงหาคม 2564 เป็นวันแรกที่สถาบันการคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) จะ ลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากลงมาอยู่ที่ 1 ล้านบาท ต่อ 1 บัญชีของแต่ละสถาบันการเงิน จากเดิมที่คุ้มครองอยู่ที่ 5 ล้านบาทต่อบัญชี ของแต่ละสถาบันการเงิน วันนี้มาสรุปข้อมูลแบบง่ายๆกันดีกว่า เพราะเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องรู้ไว้ 

ลดคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาท เริ่มแล้ว 11 ส.ค. 64 นี้

จุดเริ่มต้นการคุ้มครองเงินฝาก

          เรื่องนี้ย้อนกลับไปก่อนปี 2540 ช่วงนั้นไม่มีการคุ้มครองผู้ฝากเงิน แต่หลังจากเกิดต้มยำกุ้ง เลยมีคำสั่งคุ้มครองผู้ฝากเงิน-เจ้าหนี้ แบบ เต็มจำนวน แต่แน่นอนว่ามีปัญหาตามมาคือ สถาบันการเงินและเจ้าหนี้ก็จะแบกความเสี่ยงสูง 

          พอเกิดปัญหานี้ก็มีการลดวงเงินคุ้มครองลงมาเรื่อยๆ เช่นจาก 10 ล้าน พอมาในปี 2562 ก็ลดเหลือ 5 ล้านบาท จนมาเหลือ 1 ล้านบาทแบบที่เห็นในปัจจุบัน 

สถาบันคุ้มครองเงินฝากคือใคร 

          สถาบันคุ้มครองเงินฝาก หรือ สคฝ. เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ปี พ.ศ. 2551 โดยมีเจตนารมย์และหน้าที่หลักที่สำคัญคือ

  1. คุ้มครองเงินฝาก โดยเฉพาะผู้ฝากที่เป็นรายย่อย ซึ่งถือเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศให้ปลอดภัย และจ่ายคืนเงินฝากโดยเร็ว หากสถาบันการเงินถูกปิดกิจการ
  2. เก็บเงินนำส่งที่ได้จากสถาบันการเงินภายใต้ความคุ้มครองมารวบรวมไว้ในกองทุนคุ้มครองเงินฝาก สำหรับใช้ในการจ่ายคืนให้แก่ผู้ฝากตามวงเงินคุ้มครองและระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
  3. บริหารจัดการสินทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการ และนำเงินที่ได้รับจากการชำระบัญชีมาจ่ายคืนให้แก่เจ้าหนี้ของสถาบันการเงิน และผู้ฝากที่มีเงินฝากเกินวงเงินคุ้มครองโดยเร็ว

ลดคุ้มครองเงินฝากทำไม?

  • รักษาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน 
  • คุ้มครองผู้ฝากเงินรายย่อย 
  • ตามแผนของสถาบันการเงินในภาพรวม 

คุ้มครองใครบ้าง?

  • บุคคลธรรมดา 
  • นิติบุคคล 
  • ชาวต่างชาติ (ต้องมีบัญชีเงินฝากตามกฎหมายและเป็นเงินบาทไทย)

ที่คุ้มครองคุ้มครองอะไรบ้าง

คุ้มครองในหมวดของ เงินฝาก และต้องเป็นเงินบาทไทย ได้แก่

  • เงินฝากกระแสรายวัน
  • เงินฝากออมทรัพย์ 
  • เงินฝากประจำ 
  • บัตรเงินฝาก 
  • ใบรับฝากเงิน 

ที่ไม่คุ้มครอง

  • เงินฝากประเภทที่เป็นเงินตราต่างประเทศ 
  • เงินลงทุนในตราสารต่างๆ 
  • เงินฝากในสหกรณ์
  • ตั๋วแลกเงิน
  • เงินอิเล็กทรอนิกส์
  • อื่นๆ 

กระทบมากน้อยแค่ไหน?

          ในแง่ของการลงทุน มีหลายท่านก็ให้ความเห็นว่าอาจจะกระทบต่อความเชื่อมั่น อันนี้ก็ต้องรอดูต่อไป ส่วนประชาชนทั่วไปจะได้รับผลกระทบโดยตรงต่อเมื่อสถาบันการเงินปิดตัวลง(มีอธิบายด้านล่าง) 

          จากการสำรวจในปัจจุบันหรือปี 2564 วงเงินคุ้มครองที่ 1 ล้านบาท มีผู้ฝากที่ได้รับความคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวน 82.07 ล้านราย คิดเป็น 98.03% ของผู้ฝากทั้งระบบ (ให้เข้าใจง่ายคนที่มีเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาทนั้นละ) ก็อาจจะเรียกได้ว่าคุ้มครองประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ 

          ส่วนทางธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ได้ชี้แจ้งว่า การปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากเป็นไปตามแผน  สถาบันการเงินยังเข้มแข็งและมีสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง 

คุ้มครองเงินฝากจะถูกใช้งานตอนไหน 

  • สถาบันการเงินปิดกิจการ ถูกถอดใบอนุญาต

          หากเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นผู้ฝากเงินจะได้รับเงินฝากคืนภายใน 30 วัน ตามวงเงินที่กฎหมายกำหนด (ก็คือ 1 ล้านบาทในปัจจุบัน)  กรณีเกิน 1 ล้านบาท สคฝ.จะนำทรัพย์สินของสถาบันการเงินมาจำหน่ายแล้วคืนเงินให้กับผู้ฝากเงิน

          หากใครอยากดูว่าสถาบันการเงินที่ได้รับความคุ้มครองมีที่ไหนบ้างดูได้ที่ รายชื่อสถาบันการเงินที่ได้รับการคุ้มครอง 

หากมีเงินเกิน 1 ล้านบาททำอย่างไรดี (เป็นแค่คำแนะนำเบื้องต้น)

  • กระจายเงินฝากไปหลายๆ สถาบันการเงิน หลายๆ ธนาคารไม่ให้เกินที่ละ 1 ล้านบาท
  • นำเงินไปลงทุน เช่น ลงทุน หุ้น ตราสารหนี้ 
  • บางคนก็นำเงินไปซื้อทองคำเก็บไว้

อย่างไรก็ตามการลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาก่อนการลงทุนทุกครั้ง 

          การลดคุ้มครองเงินฝาก เป็นสิ่งที่มีการทำมาเป็นระยะเวลานานแล้ว ตามระบบของสถาบันการเงิน ยังไงก็ไม่ควรตื่นตระหนกมากเกินไป ที่ดีที่สุดควรวางแผนการเงินให้ดี รู้จักการบริหารความเสี่ยง สามารถติดตามบทความเรื่องการเงินได้ที่ iNN 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

ขอขอบคุณข้อมูล

สถาบันคุ้มครองเงินฝาก DPA 

ธนาคารแห่งประเทศไทย 

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube