fbpx
Home
|
ทั่วไป

ครม.เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์พัฒนาปล่อยก๊าซเรือนกระจก

Featured Image
ครม.เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย มุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ พร้อมมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2065

น.ส.ไตรศุลี  ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย พร้อมเห็นชอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยประสานงานกลางของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จัดส่งร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าว ต่อสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาฯ ในช่วงการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ระหว่างวันที่ 31 ต.ค.-12 พ.ย.64

ทั้งนี้สาระสำคัญของร่างยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทยนั้น จัดทำขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการร่วมมือกับประชาคมโลกในการพยายามควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5-2 องศาเซลเซียส โดยมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเข้มข้น ตามข้อ 4 วรรค 19 ของความตกลงปารีส  ซึ่งประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายที่จะมีระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด ณ ปี 2030  มุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยเร็วที่สุดภายในครึ่งหลังของศตวรรษนี้ และมีความพยายามในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2065  ซึ่งการยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศและการได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงิน เทคโนโลยี และการเสริมสร้างขีดความสามารถจะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายที่ท้าทายนี้ได้

สำหรับยุทธศาสตร์ระยะยาวฯของประเทศไทยได้จัดทำโดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน มีการกำหนดเป้าหมายและมาตรการที่ชัดเจนและสอดคล้องตามแนวทางการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลก 2 องศาเซลเซียส และการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและขนส่งอย่างเร่งด่วน รวมถึงการปรับเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเอกชน ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสและเพิ่มมูลค่าการลงทุนในธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายในปี 2050

นอกจากนี้การดำเนินมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกยังก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วม เช่น ประสิทธิภาพการใช้พลังงานของประเทศเพิ่มขึ้น ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหัวประชากรลดลง ทำให้มลพิษทางอากาศ ได้แก่ ออกไซด์ของไนโตรเจน คาร์บอนมอนอกไซด์ PM 2.5 ลดลง โดยการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำของประเทศไทยจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

 

ครม.เห็นชอบแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่าย และปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566  ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหา บรรเทา หรือแก้ไขผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

น.ส.ไตรศุลี  ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 และปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566  โดยแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 จะดำเนินการสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ(ฉบับปรับปรุง) แผนปฏิบัติราชการของกระทรวง เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน นโยบายสำคัญของรัฐบาล รวมทั้งน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการจัดสรรงบประมาณ โดยคำนึงถึงความจำเป็นและภารกิจของหน่วยรับงบประมาณ ความต้องการในพื้นที่และแผนพัฒนาพื้นที่ตามความต้องการของประชาชนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณและผลสัมฤทธิ์ในการบริหารจัดการภาครัฐ

ขณะเดียวกันการจัดทำงบประมาณรายจ่ายจะดำเนินการให้สอดคล้องกับการระบาดโควิด-19 โดยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหา บรรเทา หรือแก้ไขผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  และให้ความสำคัญกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. เพิ่มศักยภาพการถ่ายโอนภารกิจการจัดบริการสาธารณะ ลดความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งพัฒนาประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ และประสิทธิผลการใช้จ่ายของ อปท.

รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการจัดทำงบประมาณให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน โดยให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณานำเงินนอกงบประมาณหรือเงินสะสมคงเหลือมาใช้ดำเนินภารกิจของหน่วยงานเป็นลำดับแรก ควบคู่กับการพิจารณาทบทวนเพื่อชะลอ ปรับลด หรือยกเลิกการดำเนินโครงการที่มีความสำคัญในระดับต่ำ หรือหมดความจำเป็น พิจารณาถึงความพร้อม หรือขีดความสามารถในการใช้จ่ายงบประมาณ และนำความสำเร็จในการปฏิบัติงานและผลการใช้จ่ายงบประมาณในปี 2564 และ2565 มาประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับศักยภาพการดำเนินงานของหน่วยรับงบประมาณ

สำหรับปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ที่สำคัญเช่น  วันที่ 19 ต.ค.64 ครม.ให้ความเห็นชอบแนวทางการจัดทำงบประมาณ 2566,  วันที่ 22-24 ธ.ค.64 กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. และธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ร่วมกันพิจารณาประมาณการรายได้ กำหนดนโยบาย วงเงินงบประมาณรายจ่าย และโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ2566 และนำเสนอครม., วันที่ 4 ม.ค.65 ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบนโยบาย วงเงินงบประมาณรายจ่ายและโครงสร้าง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 , วันที่ 1-2 มิ.ย.65  สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 วาระที่ 1 เป็นต้น

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube