fbpx
Home
|
เศรษฐกิจ

เอกชนชี้กำลังซื้อไม่มีขึ้นราคาไม่ได้แบกต้นทุนอ่วม

Featured Image
เอกชนชี้กำลังซื้อของประชาชนไม่มี ขึ้นราคาไม่ได้แบกต้นทุนอ่วม คงกำลังการผลิตให้นานที่สุด

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผยสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า เวลานี้ไม่มีผู้ประกอบการรายใดอยากปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น เพราะจะส่งผลกระทบกับยอดขายของตัวเองมีแต่ต้องการปรับราคาลดลงเพื่อที่จะระบายสต๊อกทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในธุรกิจ ในขณะที่กำลังการผลิตนั้นผู้ประกอบการพยายามที่จะคงกำลังการผลิตไว้ให้ได้มากที่สุด แต่บางส่วนจำเป็นต้องลดกำลังการผลิตโดยปริยายเนื่องจากการขาดแคลนแรงงาน ประมาณร้อยละ 10-20 แล้วแต่อุตสาหกรรม

หลังจากการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาหลายระลอกทำให้แรงงานที่กลับประเทศและไม่กลับเข้ามาทำงานตามเดิม รวมถึงแรงงานที่ถูกกักตัวหลังจากมีการระบาดในโรงงานผลิตสินค้าทำให้การผลิตทำได้ไม่เต็มที่ และ เมื่อต้องลดกำลังการผลิตลงส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตต่อหน่วยสูงขึ้นโดยปริยาย ซึ่งผู้ประกอบการนอกจากมีต้นทุนที่สูงขึ้นจากการลดกำลังการผลิตลงแล้วยังมีต้นทุนจากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกขาขึ้น ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงส่งผลทำให้การนำเข้าวัตถุดิบในการผลิตสินค้าบางส่วนสูงขึ้น

ซึ่งเวลานี้ต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการอยู่ในภาวะที่ทุกอย่างเต็มที่แล้ว หากวัตถุดิบในสต๊อกเดิมหมดอาจต้องมีการพิจารณาปรับตัวด้วยการยกเลิกการผลิต หรือเปลี่ยนการผลิตสินค้าเป็นรูปแบบอื่น โดยสต๊อกวัตถุดิบของผู้ประกอบการเวลานี้เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3 เดือนเพราะไม่สามารถสต๊อกสินค้าได้นานกว่านี้เนื่องจากสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้มีความเสี่ยงสูงหากจะมีการสต๊อกสินค้าเป็นเวลานานเหมือนการทำธุรกิจในช่วงก่อนเกิดโควิด-19

อย่างไรก็ตามการขอความร่วมมือในการตรึงราคาสินค้าของผู้ประกอบการจากกรมการค้าภายในนั้น มองว่า ผู้ประกอบการปรับราคาสินค้าได้ยากอยู่แล้วเนื่องจากมีกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์ควบคุมอยู่การปรับราคาในสินค้าควบคุมที่จำเป็นจะต้องมีการขออนุญาต และมีโอกาสได้รับอนุญาตให้ขึ้นราคาน้อยมาก โดยสินค้าบางรายการไม่ได้มีการปรับราคามาแล้วเป็นเวลานานนับปี ในขณะที่ต้นทุนการผลิตมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ผู้ประกอบการจะใช้วิธีการบริหารจัดการเพื่อให้ยังสามารถดำเนินธุรกิจอยู่ได้เพราะไม่มีผู้ประกอบการรายใดอยากปิดกิจการของตนเอง

โดย มาตรการหนึ่งที่ผู้ประกอบการอยากให้ภาครัฐให้ความช่วยเหลือนั่นคือการเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะรายเล็ก หรือ SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่ายขึ้น เนื่องจากเวลานี้ผู้ประกอบการรายเล็กยังคงประสบปัญหาในเรื่องของการไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ของสถาบันการเงินได้ เพราะติดเงื่อนไขบางประการ เช่น บางรายได้มีการกู้เงินรอบแรกไปแล้วจึงไม่สามารถขอกู้เงินเพิ่มได้เนื่องจากสถาบันการเงินมีการพิจารณาถึงความสามารถในการชำระเงินคืนของลูกหนี้ แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 หลายรอบ ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีการขอกู้เงินเพิ่มเพื่อเสริมสภาพคล่องของตนเองก่อนที่จะไม่สามารถประกอบกิจการต่อได้

และหากต้องการช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการในการผลิตสินค้าให้ยังแข่งขันได้ ภาครัฐต้องเร่งผลักดัน เรื่อง ดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่น โดยเฉพาะต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการติดต่อขอนุญาตขอเอกสารกับภาครัฐกฎระเบียบที่ล้าสมัยที่เพิ่มต้นทุนเกินความจำเป็น การสนับสนุนให้มีการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรให้มีความทันสมัยและใช้เทคโนโลยีเข้ามาเสริมกำลังการผลิตทดแทนแรงงานที่กำลังขาดแคลน

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube