Home
|
ไลฟ์สไตล์

เดจาวู! ความทรงจำจากอดีต เคยเกิดขึ้นจริงหรือเปล่านะ?

Featured Image

          เอ๊ะ! เหมือนฉันเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน หรือว่านี่มันคือความจำจากชาติที่แล้วกันนะกับอาการที่เรียกว่า เดจาวู (Déjà vu) ทำให้เรารู้สึกว่าเหตุการณ์นั้นเคยพบมาแล้ว ทั้งๆที่เพิ่งพบครั้งแรก 

          จุดสำคัญของเดจาวู ก็คือ เรื่องที่เรารู้สึกว่าเคยเกิดขึ้นมาแล้ว มันเป็นเรื่องธรรมดา ๆ ในชีวิตประจำวัน แต่กลับมีรายละเอียดที่ไม่น่าเชื่อมาเชื่อมโยงกัน แต่ก็จำไม่ได้ว่าเป็นเรื่องในฝันหรือในอดีต เช่น จำได้ว่าในเหตุการณ์มีใคร กำลังทำอะไรอยู่บ้าง อยู่ตรงไหน จำได้แม้กระทั่งคำพูดหรือการแสดงออกของคนที่อยู่ในเหตุการณ์นั้น แต่ในความจริง เหตุการณ์เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในชีวิตของเรา

          และบางคนเมื่อเกิดอาการเดจาวูขึ้นก็มีความเชื่อว่าอาจจะเป็นสิ่งที่ตนเองสามารถรู้อนาคตหรือระลึกชาติได้ เพราะเหตุผลอะไรเรามาดูกัน

 

ความเชื่อต่อเดจาวู ที่คาดว่าเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ลึกลับ 

  1. ความทรงจำจากอดีตชาติหรือระลึกชาติได้ เชื่อว่าบางสิ่งอาจหลงเหลือในความทรงจำจากอดีตชาติ แล้วย้อนกลับมาเกิดอีก ทำให้เรารู้สึกว่าเคยเห็นหรือเคยทำสิ่งนี้มาก่อน
  2. มีพลังจิตหรือรู้อนาคต เชื่อว่าเป็นพลังจิตรูปหนึ่ง บ้างก็ว่าเป็นทิพจักขุญาณ (ความรู้คล้ายตาทิพย์) ซึ่งได้มาจากการเจริญสมถะภาวนาในหมวดของกสิณ 3 กองคือ เตโชกสิณ (กสิณไฟ), โอทากสิณ (กสิณสีขาว) และ อาโลกสิณ (กสิณแสงสว่าง) จากทั้งหมด 10 กอง
  3. จักรวาลคู่ขนาน การที่รู้สึกหรือเห็นภาพที่คล้ายว่าเคยทำมาก่อน เชื่อว่านั่นต่อสิ่งที่เราเคยทำจริง แต่เป็นเราในอีกโลกหนึ่งต่างหาก จากการถูกผูกกันด้วยสายใยบางอย่าง เพราะสมองมีคลื่นตรงกัน ในบางจังหวะที่เหมาะสม กระแสประสาทจูนกัน เราก็ได้รับรู้ถึงกระแสความคิดจากตัวเราในอีกโลก

 

          แม้ดูเหมือนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ลึกลับ เช่นการระลึกชาติ การใช้พลังจิต หรือเรื่องของจักรวาลคู่ขนานก็ตาม แต่ก็มีข้อโต้แย้งจากทางวิทยาศาสตร์ ถึงการเกิดอาการเดจาวูเช่นกัน

 

ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ได้อธิบายถึงปรากฏการณ์เดจาวูในทางทฤษฎีและงานวิจัย

  1. จุดกำเนิดกระแสไฟฟ้าผิดปกติในสมอง ผู้เชี่ยวชาญบางคนคาดว่าการทำงานของสมองส่วนกลีบขมับ (Temporal lobe) นั้นมีจุดกำเนิดกระแสไฟฟ้าผิดปกติในสมอง โดยอาการผิดปกติที่พบจะเกี่ยวข้องกับหน้าที่ของสมองส่วนนี้ ได้แก่ อารมณ์ พฤติกรรม และความจำเป็นหลัก เช่น ความรู้สึกคุ้นเคยกับสถานที่ทั้งที่ไม่เคยไปมาก่อน
  2. งานวิจัยทางจิตวิทยา นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูส์ชื่อว่า Akira O’Connor ที่ได้ทดลองและหาคำอธิบายเกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้

          เขาอ่านกลุ่มคำที่มีความเชื่อมโยงกันให้อาสาสมัครฟัง แต่จะไม่อ่านคำบางคำ เช่น อ่านคำว่า pillow (หมอน), dream (ฝัน), night (กลางคืน) ฯลฯ แต่จงใจไม่อ่านคำว่า sleep (นอนหลับ) ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับคำอื่นๆ อย่างชัดเจน

          จากนั้นเขาทำการทดลองถามอาสาสมัคร 2 รอบ

          รอบแรกถามว่า เมื่อสักครู่ได้ยินคำที่ขึ้นต้นด้วยตัวอักษร s หรือไม่ แน่นอนว่าอาสาสมัครตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่ได้ยิน

          แต่คำถามต่อมาคือการถามว่าได้ยินคำว่าอะไรบ้าง พอถามไปถามมา อาสาสมัครกลับรู้สึกคุ้นๆ ว่าได้ยินคำว่า sleep 

          ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ ระหว่างที่อาสาสมัครเกิดอาการเดจาวูกับคำว่า sleep นักวิจัยได้อ่านคลื่นสมองของอาสาสมัครด้วยเครื่อง fMRI (functional magnetic resonance imaging) เพื่อดูว่าสมองส่วนไหนทำงานขณะเกิดเดจาวู

          ผลลัพธ์ที่ได้พบว่าสมองส่วนความทรงจำนั้น ไม่มีการส่งสัญญาณประสาทใดๆ มากขึ้น แต่สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจกลับมีการส่งกระแสประสาทอย่างขวักไขว่ พูดง่าย ๆ ว่า    เดจาวูเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสมองส่วนการตัดสินใจ ไม่ใช่ความทรงจำ

 

อาการเดจาวูสามารถเกิดขึ้นกับใครได้บ้าง

          ส่วนใหญ่แล้วประมาณ 60-70 เปอร์เซ็น อาการเดจาวูมักเกิดขึ้นบ่อยกับช่วงอายุ 15-25 ปี แต่อาการนี้ไม่ใช่ว่าไม่เกิดขึ้นกับคนอายุมาก และมักเกิดขึ้นกับคนที่ฝันบ่อย หรือมีความเหนื่อยและเครียด ก็สามารถเกิดขึ้นได้

 

‘เดจาวู’เป็นอันตรายหรือไม่?  

          โดยทั่วไป ปรากฏการณ์เดจาวูมักไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่บางครั้งอาจเป็นสัญญาณของโรคลมชักหรือปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาทได้ 

          เนื่องจากพบว่าผู้ป่วยบางคนที่มีอาการลมชักแบบเฉพาะที่บริเวณสมองส่วนที่ควบคุมความทรงจำระยะสั้นก็เผชิญกับความรู้สึกแบบเดจาวูก่อนจะมีอาการชัก และยังพบว่าผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมโดยเฉพาะภาวะสมองส่วนหน้าเสื่อมก็มักเกิดเดจาวูอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

 

          เกือบคิดว่าตนเองจะมีพลังจิตรู้อนาคตซะแล้ว แต่จริงๆอาจจะเป็นแค่การหลอกของสมองที่มึความผิดปกติเกิดขึ้นเพียงเท่านั้น อย่างไรก็ตามเดจาวูไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่หากพบว่าตนเองมีอาการเกิดเดจาวูมากกว่า 3 ครั้งภายในเวลาหนึ่งเดือน หรือเกิดเดจาวูขึ้นพร้อมกับเห็นภาพความทรงจำคล้ายความฝันควรไปพบแพทย์

 

ขอบคุณแหล่งอ้างอิง 

https://adaymagazine.com/puzzle-dejavu/

https://www.bbc.com/thai/features-45783622

https://www.pobpad.com/เดจาวู-ไขความลับวิทยาศา

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube