ปูด 5 แผนดันจีดีพี “อิ๊งค์”
ยังคงต้องติดตามตัวเลขเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด เพราะนี่คือหนึ่งในดัชนีที่สะท้อนถึงฝีไม้ลายมือการบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรี “แพทองธาร ชินวัตร” ทั้งนี้กระทรวงการคลัง คาดการณ์ว่า จีดีพีไทยปี 2568 จะขยายตัว 2.5 – 3.5% ซึ่งล่าสุดมีมาตรการ 5 เรื่อง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ดังนี้
1. การเร่งรัดการเบิกจ่าย โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุน หากปีนี้ทำให้ได้ 80% จากเป้าหมายที่ 75% GDP เพิ่มขึ้น 0.11%
2. อุดรูรั่วต่าง ๆ ของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 3 GDP เพิ่มขึ้น 0.1%
3. โครงการบ้านเพื่อคนไทย GDP เพิ่มขึ้น 0.002%
4. กระตุ้นภาคการท่องเที่ยว เพิ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ อีก 5 แสนราย จากเป้าเดิม 38.5 ล้านราย GDP เพิ่มขึ้น 0.15%
5. เร่งรัดโครงการลงทุนของภาคเอกชนที่ได้รับการออกบัตรส่งเสริมการลงทุน ที่ขณะนี้มีการยื่นคำขอมาแล้ว 1.3 ล้านล้านบาท ในส่วนนี้หากผลักดันให้เกิดการลงทุนได้จริง ราว 7.5 หมื่นล้านบาท GDP เพิ่มขึ้น 0.19%
อย่างไรก็ตาม มีมุมมองที่น่าสนใจของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง “ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช” ที่สะท้อนภาพในประเด็นดังกล่าว โดยรัฐมนตรีฯสุชาติ กล่าวกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า เป็นไปได้ที่จีดีพีไทยโตได้ 3% แต่ปัญหาใหญ่ที่ทำให้จีดีพีของไทยโตต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน นั่นคือ ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจที่มีน้อยเกินไป อันเนื่องมาจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ดังนั้นรัฐบาลจะต้องมีวิธีการที่จะเพิ่มปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจให้มากขึ้น รวมทั้งต้องดูแลอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งจนกระทบกับการส่งออก
“เดิมเศรษฐกิจมหภาค รัฐบาลต้องปล่อยให้เงินเฟ้อเท่าๆเงินทั่วโลก 3% กว่าๆ ไม่ใช่เงินเฟ้อติดลบแล้วเศรษฐกิจจะโตได้ยังไง แต่ตอนนี้เงินเฟ้อขึ้นไปนิดหน่อยเท่าๆเงินเฟ้อโลก แบงก์ชาติก็ต้องไปลดดอกเบี้ย ลดดอกเบี้ยก็ทำให้การลงทุนเอกชนเพิ่มขึ้น ลดดอกเบี้ยก็ทำให้ ค่าเงินอ่อนลง ลดดอกเบี้ยปริมาณเงินบาทเพิ่มขึ้น แค่เงินอ่อนลง การส่งออกมากขึ้น นี่ 2 ตัวนะ แล้วรัฐบาลก็ควรตั้งเป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยนว่าควรที่เหมาะสมเป็นเท่าไหร่
ปัจจุบันไม่เหมาะสมหรอกนะ เงินบาทแข็งกว่าเงินมาเลเซียใน 10 ปีที่ผ่านมา แข็งไป 25% เราก็ขายของคล้ายๆกันอย่างนี้ สิ่งเหล่านี้ก็จะทำให้การลงทุน การบริโภค แล้วก็การส่งออกเพิ่มขึ้น ซึ่ง3 ตัวนี้เป็นองค์ประกอบของผลผลิตของชาติที่เรียกว่าจีดีพี ฉะนั้นจีดีพีก็ต้องเพิ่มขึ้นมา”
รัฐมนตรีฯสุชาติ กล่าวอีกว่า วันนี้รัฐบาลจะต้องบอกกับธนาคารแห่งประเทศไทยว่าต้องการให้เศรษฐกิจโตเท่าไร เพราะวันนี้เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านแล้ว
“ผมเห็นว่ารัฐบาลมีหน้าที่รับผิดชอบต่อประชาชน แบงก์ชาติเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล เพราะฉะนั้นรัฐบาลจะต้องมีนโยบายไปบอกแบงก์ชาติว่ารัฐบาลอยากเห็นอย่างนั้น อย่างนี้ ไม่ใช่แบงก์ชาติเป็นรัฐอิสระอยู่ในประเทศ ไม่ได้รับเลือกตั้งมาด้วยซ้ำไป
แล้วจะมากำหนดประเทศ ควรเจริญเติบโตเท่าไรไม่ควร แล้วประชาชนจะทำอย่างไร เลือกตั้งมาแล้ว รัฐบาลไม่สามารถฟื้นชาติให้เจริญเติบโตได้เท่าอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม คือ 5% แล้วเป็นประเทศไทย ประเทศเดียว ที่เจริญเติบโตต่ำสุดในอาเซียน มีบรูไน กับพม่าที่มีปัญหาอื่น”
ขณะที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ “นายพิชัย นริพทะพันธุ์” ซึ่งได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน Thailand Economic Monitor ของธนาคารโลก (World Bank) ว่า เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยคาดว่า GDP ปีนี้จะขยายตัว 3% สูงกว่าที่ธนาคารโลกคาดการณ์ไว้ ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกที่ทำสถิติสูงสุดถึง 10 ล้านล้านบาท หรือเติบโต 5.4% ในปี 2567 ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ทะลุ 1.1 ล้านล้านบาท
รัฐมนตรีฯพิชัย กล่าวอีกว่า ทั้งนี้รัฐบาล โดยการนำของนายกรัฐมนตรี ให้กระทรวงพาณิชย์ เร่งรัดเดินหน้าเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) หลายฉบับ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้สินค้าไทย
โดยเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ไทยได้ลงนาม FTA กับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป หรือเอฟตา(EFTA) ซึ่งประกอบด้วย สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ ขณะเดียวกัน การเจรจา FTA ไทย-ภูฏาน กำลังใกล้บรรลุผลในเร็ววันนี้ และไทยยังอยู่ระหว่างเจรจา FTA กับ ยูเออี สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ และอียู โดย FTA ไทย-อียู ซึ่งมุ่งมั่นที่จะบรรลุข้อตกลงภายในสิ้นปีนี้ตามแนวทางการเจรจาที่นายกฯ ได้ให้ไว้
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews