fbpx
Home
|
คลิปข่าวทั่วไป

ผวาม็อบผุดติดโควิดเร่งฉุดศก.ดิ่ง

ผวาม็อบผุดติดโควิดเร่งฉุดศก.ดิ่ง(click ดูวิดีโอ)

ในท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศยังลุกลามอย่างต่อเนื่อง จนตอนนี้ไตรมาสที่ 2 ของปีแล้ว แนวโน้มยังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ ซึ่งล่าสุดแม้ว่า ศบค.จะประกาศยกระดับของพื้นที่สถานการณ์ เป็นพื้นที่สีแดง 18 จังหวัด และเป็นพื้นที่สีส้ม 59 จังหวัดที่เหลือ ห้ามจัดกิจกรรมเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ปิดผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานบันเทิง อาบอบนวด แต่ยังคงให้มีการเดินทางได้ปกติอยู่ และรัฐบาลได้ขอความร่วมมือจัดรูปแบบการทำงานที่บ้าน “Work from Home”

ขณะเดียวกัน แม้ยังพบการระบาดของโควิด-19 แต่ความเคลื่อนไหวทางการเมืองไม่ได้ลดน้อยลงไปเลย ไม่นานมานี้ยังพบการรวมตัวของกลุ่มที่เห็นต่างกับรัฐบาลทำกิจกรรมที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล และเชื่อว่า เราจะได้เห็นกลุ่มคนออกมาทำกิจกรรมเช่นนี้เรื่อยๆ

“คำถามต่อมา ระหว่างโควิด กับ ม็อบการเมือง อะไรน่ากลัวกว่ากัน”

“นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล” ผู้เชี่ยวชาญการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยกับสำนักข่าว INN ถึงประเด็นดังกล่าวได้น่าสนใจว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นเรื่องปกติของคนในสังคมที่มีหลากหลายทางความคิด และจะพบเห็นในทุกประเทศ แต่ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 การรวมตัวกันทำกิจกรรมช่วงนี้คงไม่สมควร เนื่องจากจะทำให้ตัวเลขการติดเชื้อเพิ่มขึ้น และการควบคุมจะลำบากมากกว่าเดิม โดยหากตอนนี้ให้พิจารณาการเคลื่อนไหวทางการเมืองในตอนนี้แทบไม่ได้มีผลอะไรกับความเชื่อมั่น หรือการลงทุนเลย เพราะประเด็นหลักอยู่ที่ “โควิด-19” ซึ่งกำลังกระจายตัวไปในทุกกลุ่มอาชีพ พื้นที่หลายจังหวัด ประชาชน คนทำงาน ธุรกิจต่างๆ ได้รับผลกระทบกันทั้งหมด แต่จะมากหรือน้อยก็อีกเรื่อง

สำหรับมติ ศบค. ล่าสุดที่ประกาศให้ 18 จังหวัด เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด (พื้นที่สีแดง) เช่น กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ชลบุรี สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร ปทุมธานี ส่วนพื้นที่เหลือ 59 จังหวัดเป็นพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) สั่งปิดผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานบันเทิง อาบอบนวด และร้านอาหารมีการกำหนดเวลาเปิดปิด เพื่อลดการแพร่เชื้อโควิดรอบใหม่ ส่วนตัวมองว่า แนวทางนี้ดีที่สุดแล้ว แม้จะมีความเสี่ยงอยู่บ้าง เช่น ยังคงให้เดินทางข้ามจังหวัดได้ แต่หากจะทำแนวทางเดิม คือ ประกาศล็อกดาวน์ เคอร์ฟิวทั่วประเทศ จะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี โดยเฉพาะภาคธุรกิจ และคนน่าจะออกมาต่อต้านแนวทางนี้จำนวนมาก

ทั้งนี้ หากประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาส 1 และ 2 มองว่า ไตรมาส 2 จะสาหัสกว่าไตรมาสแรก แต่จะแย่กว่าเท่าไหร่คงเร็วไปในการที่จะบอกตอนนี้

ขณะเดียวกัน ภาครัฐก็ต้องเร่งดึงงบประมาณที่มีกระจายไปยังเศรษฐกิจฐานรากตามต่างจังหวัด โดยเฉพาะการกระตุ้นใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ซึ่งโครงการที่รัฐทำอยู่ในตอนนี้ถือว่าเหมาะสมแล้ว เช่น โครงการคนละครึ่ง เราชนะ ม33เรารักกัน ดังนั้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจควรขยายมาตรการข้างต้นออกไปอีก ทำเป็นเฟส 2 หรือ 3 พร้อมเพิ่มวงเงินเข้าไป ส่วนเรื่องการให้เป็นเงินสดต้องดูที่วัตถุประสงค์ของโครงการก่อนถึงจะบอกได้ว่า เหมาะสมหรือไม่ แม้ข้อดี คือ ประชาชนที่ได้รับสามารถใช้จ่ายได้ตามต้องการ แต่การตรวจสอบเส้นทางการใช้เงินจะค่อนข้างยาก ทำให้รัฐบาลหรือหน่วยงานอาจวัดผลสัมฤทธิ์ของโครงการไม่ได้เลย

ด้านนางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า การอนุญาตให้เดินทาง เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 หากจำกัดการเดินทางในช่วงนี้ จะ 2 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน ส่วนตัวเชื่อว่าจะช่วยลดการติดเชื้อ

สุดท้าย เราคงต้องมาดูกันว่า เศรษฐกิจไตรมาส 2 ของไทยจะออกมาแนวทางไหน จะโตหรือตุ้บ เพราะตอนนี้โควิดระบาดพุ่งแบบฉุดไม่อยู่จริงๆ ทุกจังหวัดของประเทศพบการติดเชื้อทั้งหมด ไร้จังหวัดที่เป็นสีขาว และดูเหมือนว่ารอบนี้จะเร็ว แรงมากกว่าเดิมด้วย โดยความหวังเดียวในตอนนี้ คงเป็นมาตรการภาครัฐว่าจะออกมาเพิ่ม ขยาย อีกหรือไม่ แต่ประเด็นสำคัญน่าจะอยู่ที่ว่า รัฐบาลมีเงินในเป๋าคลังกี่บาท

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

 

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube