fbpx
Home
|
ข่าว

“ธรรมนัส”ไม่แสดงความเห็นโหวตวาระ3

Featured Image
“ธรรมนัส” ไม่แสดงความเห็น โหวตวาระ 3 พปชร. จ่อหารือ 16 มี.ค.นี้ ขออย่ามองการไกล แก้ รธน. จุดประเด็นขัดแย้งรอบใหม่

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่พรรคร่วมรัฐบาลประกาศจุดยืนลงมติในวาระ 3 ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเรียกร้องให้พรรคพลังประชารัฐ รวมถึงแกนนำรัฐบาลแสดงจุดยืนในเรื่องนี้ ว่าส่วนตัวไม่มีความคิดเห็นในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่มี นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาลเป็นคนดูแล เราจะไม่ก้าวก่ายการทำงานซึ่งกันและกันในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ จะมีการประชุมในวันอังคารที่ 16 มี.ค. 64 ณ ที่ทำการพรรค ที่ประชุมเห็นว่าอย่างไรก็ว่าอย่างนั่น

ส่วนตัวมองว่าเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเป็นประเด็นความขัดแย้ง รอบใหม่ของพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่นั้น  อย่ามองไปไกลถึงขนาดนั้นให้มีการประชุมพักกันก่อน ส่วนกรณีที่ นายวิษณุ เครืองามรองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ยังมีอีกทางออกคือ ให้ไปโหวตคว่ำในวาระ 3 จะได้จบเรื่องและเริ่มต้นใหม่นั้น เรื่องนั้น เป็นข้อเสนอของนายวิษณุ ซึ่งพรรคพลังประชารัฐ จะมีการประชุมในวันอังคารเพื่อพิจารณาและจะได้ข้อสรุป

 

“อนุสรณ์” มอง หากรัฐบาลคว่ำ แก้ รธน. ความขัดแย้งรอบใหม่จะถูกยกระดับขึ้นอีก

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีการออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับการโหวตในญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ของ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ว่า แนวคิดของนายวิษณุ เป็นหลักฐานชัดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นการยืนยันในสิ่งที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ถูก สปช. คว่ำรัฐธรรมนูญกลางสภา ทำให้ตกไป จนไม่ได้เดินหน้าไปสู่การทำประชามติ

ทั้งนี้ นายอนุสรณ์ กล่าวว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ ประเมินว่าการเคลื่อนไหวของการเมืองภาคประชาชนโดยเยาวชนคนรุ่นใหม่อ่อนกำลังลง จะยื้อการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไปนานแค่ไหนก็ได้ อาจคิดผิด สถานการณ์มีสิทธิ์พลิกผันจากปัจจัยที่รัฐบาลเบี้ยวแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลายเป็นการเผชิญหน้าและความขัดแย้งรอบใหม่ที่ถูกยกระดับขึ้นมา

“แรมโบ้” ชี้ “วิษณุ” ไม่ได้ส่งสัญญาณให้ใครโหวตคว่ำวาระ3 แต่เป็นการตอบคำถามสื่อเท่านั้น ย้ำ รัฐบาลเห็นด้วยกับการแก้รธน.

นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะกรรมาธิการพิจารณารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับเพิ่มเติม ให้ความเห็นกรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีตีความกฎหมายเข้าข้างตัวเอง เพื่อการสืบทอดอำนาจ พร้อมให้พรรคร่วมพิจารณาเรื่องนี้ให้ดี โดยเชื่อว่าที่นายวิษณุ ให้ความเห็นนั้นไม่ได้เป็นการส่งสัญญาณใดๆไปยังใครให้คว่ำญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 แต่เป็นการตอบคำถามสื่อในเรื่องที่เป็นไปได้เท่านั้น ทั้งนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ถือเป็นหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาอยู่แล้ว หมอชลน่านก็เป็น ส.ส.จึงไม่ต้องกังวลในเรื่องนี้

นายเสกสกล ย้ำว่า นายกรัฐมนตรี และรัฐบาล บอกแล้วว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และพร้อมจะสนับสนุนในเรื่องต่างๆ รวมถึงงบประมาณการทำประชามติ
นอกจากนี้ตนยังมั่นใจว่านายกรัฐมนตรีไม่เคยสั่งการใดๆกับพรรคร่วมรัฐบาล ในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะถือเป็นเรื่องของพรรคร่วมรัฐบาลจะพิจารณากันเอง

 

“เทพไท” ยัน พรรคประชาธิปัตย์-ชาติไทยพัฒนา หนุนลงมติวาระ 3 จี้พปชร.แสดงความชัดเจน

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีตส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการลงมติของญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ3 ของรัฐสภา ว่า ตนในฐานะผู้จุดประกายเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการเป็นผู้ยื่นญัตติให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหา และแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนทำให้สภาผู้แทนราษฎรเดินหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาจนถึงปัจจุบัน ขณะนี้มีหลายฝ่ายแสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับการลงมติพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ วาระ 3

ซึ่งตนเห็นว่าแต่ละฝ่ายมีวาระซ่อนเร้น โดยฝ่ายที่ไม่อยากให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็จะอ้างว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นโมฆะหรือตกไป แต่ฝ่ายที่ต้องการจะให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็จะเห็นว่าสามารถเดินหน้าลงมติในวาระ 3ได้

ตนคิดว่าผู้ที่แสดงความเห็นได้อย่างเป็นกลางที่สุด คือนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพราะไม่มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยตรง ซึ่งนายชวน ได้วินิจฉัย ว่าสามารถลงมติในวาระ 3 ได้ ซึ่งตนสนับสนุนแนวทางของนายชวน เพราะต้องเดินหน้าต่อไปให้เสร็จสิ้นกระบวนความ

อย่างไรก็ตา ตอนนี้มีพรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรคมีท่าทีชัดเจนแล้ว ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศลงมติเห็นชอบในวาระ 3

พรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งมีนายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนาสนับสนุนการลงมติวาระ 3 และพรรคภูมิใจไทย ที่ตนได้สอบถามนายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง และโฆษกพรรคภูมิใจไทย แล้ว ได้รับการยืนยัน ว่า พรรคภูมิใจไทย พร้อมลงมติสนับสนุนด้วย เหลือแต่พรรคพลังประชารัฐ ที่มีความเห็นต่างของสมาชิกบางคน ซึ่งตนขอเรียกร้องให้พรรคพลังประชารัฐ แสดงความชัดเจนในเรื่องนี้

นายเทพไท กล่าวอีกว่า ยืนยันสมาชิกพรรคทุกคนสนับสนุนแนวทาง ที่หัวหน้าพรรคเสนอต่อสาธารณชน ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือหัวใจของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นจุดยืน เป็นอุดมการณ์ของพรรค ดังนั้น พรรคปฏิเสธเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นจุดแข็งของพรรคมาตลอด 75 ปี ถ้าไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของพรรค พรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องกลับมาคุยเรื่องนี้อีกรอบหนึ่ง

ทั้งนี้ หากพรรคประชาธิปัตย์ ถอนตัวจากรัฐบาล จะส่งผลไปสู่การยุบสภา หรือไม่ เป็นอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จะตัดสินใจทางการเมือง ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์คงไม่คิดถึงเรื่องสถานการณ์การเมืองในวันข้างหน้า แต่คิดถึงเรื่องท่าที จุดยืน และคำตอบที่จะให้กับสมาชิกพรรค

“ปริญญา” มองส.ส.-ส.ว.บางส่วนพยายามตีความมติศาลให้แก้รธน.ไปต่อไม่ได้ ย้ำต้องลงมติวาระ 3 ส่วนจะโหวตอย่างไรถือเป็นเรื่องของสภา

นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 วันที่ 17 – 18 มี.ค.นี้ ว่า กระบวนการที่จะเริ่มทำประชามติถามประชาชนว่าจะให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่นั้น จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อที่ประชุม ร่วมรัฐสภาโหวตผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ในวาระ 3 จากนั้นจึงจะเริ่มขั้นตอนการทำประชามติ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่อย่างใด ส่วนการที่มี ส.ส. และ ส.ว. บางส่วนตีความว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ในวาระ 1 และ 2 ถือเป็นโมฆะนั้น ตนเข้าใจว่าเป็นความตั้งใจ ตีความให้ไปต่อไม่ได้ เพราะจะเริ่มร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้ต้องมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ก่อน จึงจะไปถามประชาชนว่าอยากให้มีรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่

นายปริญญา กล่าวอีกว่า หากจะมีการทำประชามติก่อนโหวตวาระ 3 เราจะใช้รัฐธรรมนูญมาตราไหนมาดำเนินการ เพราะหากใช้มาตรา 116 ก็จะกลายเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี ไม่ใช่อำนาจของรัฐสภา และอาจจะเกิดการติดขัดขึ้น แต่ในมาตรา 256 ไม่ได้มีการเขียนไว้ว่าให้ทำประชามติก่อน ดังนั้น การจะทำประชามติก่อนจึงต้องแก้ไขมาตรา 256 เพราะส่วนตัวมองหาไม่เจอว่ารัฐสภาจะใช้อำนาจตามมาตราใด

เมื่อถามว่า ตอนนี้เริ่มมีกระบวนที่จะล้มวาระ 3 นั้น นายปริญญา ระบุว่า หากประสงค์จะให้คนไทยไม่ว่าฝ่ายไหนยุติปัญหาด้วยรัฐสภา คิดว่าขั้นตอนที่จะนำความขัดแย้งนอกสภามาสู่กระบวนการที่ใช้รัฐสภาเป็นตัวแก้ปัญหาเกรงว่าหากคว่ำไป การเมืองนอกสภาอาจจะแรงขึ้น ดังนั้นในเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาเรื่องความยอมรับของประชาชนจำนวนมาก ต่อให้ผ่านประชามติมาก็เป็นประชามติที่ไม่สมบูรณ์แบบ แต่หากไม่มีวาระ 3 ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่แย่ เพราะเท่ากับว่ารัฐสภาด้อยค่าตัวเอง ในการพิจารณา 2 วาระที่ผ่านมา จึงมองว่าอย่างไรก็ตามต้องมีวาระ 3 ส่วนจะโหวตอย่างไรนั้น ถือเป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภาที่มีต่อประชาชน

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube