fbpx
Home
|
ข่าว

“วิษณุ”เผย กกต. จะทำ กฎหมายลต.แต่ไม่เห็นวิธีนับคะแนน

Featured Image
“วิษณุ”เผย กกต. จะทำ กฎหมายเลือกตั้ง แต่ยังไม่เห็นวิธีนับคะแนนส.ส. เผย ใช้เวลาพิจารณาอีกนาน เพราะต้องผ่านหลายขั้นตอน ย้ำทุกอย่างจบที่ กกต.

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการพูดคุยกับพ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เรื่องการยกร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ว่า การหารือกับกกต.วันนี้ได้ข้อสรุปว่า กกต.จะเป็นผู้จัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญที่มีการทูลเกล้าฯถวายขึ้นไปแล้ว

ส่วนกฎหมายพรรคการเมือง ดูแล้วยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแก้ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ แต่แนวคิดที่จะแก้ไขมีอยู่ก่อนแล้ว เพราะฉะนั้นจะมีข้อความเห็นจาก กกต.อีกครั้งว่าจะเอาอย่างไร หาก กกต.เห็นว่าควรต้องแก้ ทั้งสองฉบับทำในคราวเดียวกัน ฉะนั้นรอให้เสนอ กกต.มาก่อน ทั้งนี้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯ ทางสำนักงานกกต.ได้ยกร่างขึ้นมาเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีประมาณ 30 มาตรา เป็นเรื่องบัตร 2 ใบ รวมถึงวิธีการนับคะแนน ซึ่งจะนับอย่างไรนั้นตนไม่รู้เพราะยังไม่ได้เห็นร่าง เพราะต้องเสนอ กกต.ก่อน

จากนั้นจึงจะเปิดเผยให้สาธารณะชนทราบ และเมื่อกกต.ใหญ่เห็นชอบแล้ว ก็จะมีการรับฟังความเห็นในส่วนกลาง คือ จากพรรคการเมืองและประชาชนจากนั้นจะส่งให้กกต.จังหวัดทุกจังหวัดรับฟังความเห็น ก่อนรวบรวมกลับเข้ามาที่ส่วนกลาง เพื่อปรับปรุงก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบก็จะส่งไปให้คณะกรรมกฤษฎีกา ได้ตรวจสอบอีกครั้งจากนั้นก็จะเตรียมส่งร่างดังกล่าวให้รัฐสภา

ส่วนจะคุยกับทางกกต.อีกครั้งเมื่อไหร่ นายวิษณุ ระบุว่า ไม่คุยแล้ว จนกว่าจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ จึงจะได้มาดูว่าจะส่งร่างไปที่สภาเมื่อใด ระหว่างนี้ทุกคนก็ทำงานของตัวเองไป ทั้งยกร่างซึ่งร่างเสร็จแล้ว 30 มาตรา และเตรียมที่จะเสนอ กกต.ใหญ่ และคิดว่าคงอีกไม่กี่วันเมื่อกกต.ใหญ่เห็นอย่างไรก็ปฏิบัติไปตามนั้น

ส่วนได้เห็น 30 มาตราแล้วหรือยัง นายวิษณุ กล่าวว่า ยังไม่เห็น เพราะต้องเสนอกกต.ใหญ่ก่อน จึงไม่อยากเอามาแสดงก่อน แต่พอผ่านกกต.ใหญ่แล้ว ก็ต้องเปิดเผยให้คนรับรู้เพื่อติชมไม่เช่นนั้นจะเรียกว่ารับฟังตาม มาตรา 77 ได้อย่างไร ส่วนหากติชมแล้วสามารถปรับแก้ได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ได้ เพราะติชมก็เพื่อที่จะแก้ ส่วนที่พรรคกำลังจะทำนั้น เขาก็มีสิทธิ์เสนอได้เพราะผู้ที่จะเสนอได้ ก็เป็นครม.ตามข้อเสนอเเนะขอกกต. หรือส.ส.1ใน10 แต่ส.ส.คงยังไม่เสนอร่างของตัวเองต่อสภา จนกว่าจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญเหมือกัน ซึ่งจะเสนอได้อย่างไรในเมื่อรัฐธรรมนูญยังไม่ได้แก้

เพราะฉะนั้นเมื่อถึงเวลาประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่แก้ไขเสร็จก็คงจะเสนอเข้าสภาไป ถ้ามีหลายฉบับก็จะไปรวมพิจารณาร่วมกัน โดยเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาและต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 180 วันหรือ 6 เดือน เมื่อรัฐสภาพิจารณาเสร็จแล้วก็จะส่งกลับไปให้กกต.อีกภายใน 15 วัน เพื่อดูว่าการที่คณะกรรมาธิการนำไปแก้นั้นผิดไปจากเจตนารมณ์ของกกต.หรือไม่ โดย กกต.จะต้องตอบกลับมาภายใน 10 วัน จากนั้นสภาก็จะทำการแก้ไขให้เสร็จภายใน 30 วัน จึงจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ส่วนตัวไม่ได้ให้คำแนะนำอะไรไปกับเลขาฯกกต.ทั้งนี้เข้าใจว่าสัปดาห์หน้าก็น่าจะรู้แล้ว

ส่วนมีโอกาสที่การนับคะแนนจะกลับไปเหมือนปี 50 หรือไม่ นายวิษณุ ระบุว่า ไม่ทราบ ตนยังไม่เห็นร่าง ความจริงตนก็อยากรู้แต่ยังไม่อยากรู้ตอนนี้ เพราะกกต.ใหญ่เขาอาจเปลี่ยนแปลง ซึ่งคาดว่าจะเสนอเข้าสู่ครม.ได้เมื่อไหร่ นายวิษณุ ระบุว่า อีกนาน ขั้นตอนทุกอย่างกว่าจะเสร็จ แต่เรายังมีเวลาแม้ว่าสภาจะเปิดวันที่ 1 พ.ย. นี้ แต่อย่างไรก็ยังเสนอไม่ได้จนกว่าจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube