Home
|
ทั่วไป

กรมประมง เร่งผลิตพันธุ์ปลาชะโอน รองรับความต้องการเกษตรกร

Featured Image
กรมประมงเร่งปั้นผลผลิตลูกพันธุ์ “ปลาชะโอน” รองรับความต้องการของเกษตรกร จัดคอร์สติวเทคนิคอนุบาลด้วยการควบคุมอุณหภูมิหนุนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

 

 

 

กรมประมง เร่งเพิ่มศักยภาพการผลิตลูกพันธุ์ “ปลาชะโอน” ดาวรุ่งแห่งวงการสัตว์น้ำจืดเศรษฐกิจชนิดใหม่  จัดคอร์สอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร “การอนุบาลปลาชะโอนให้มีประสิทธิภาพสูงโดยการควบคุมอุณหภูมิ” ระหว่างวันที่ 14–16 พฤษภาคม 2568 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดลพบุรี จังหวัดลพบุรี ถ่ายทอดองค์ความรู้สู่บุคลากรหน่วยผลิตพันธุ์สัตว์น้ำจืดในสังกัดกรมประมง 21 แห่งทั่วประเทศ รวมกว่า 40 ราย ร่วมปั้นปริมาณลูกพันธุ์ปลาชะโอนให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร พร้อมต่อยอดสู่การเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์

 

 

นางฐิติพร หลาวประเสริฐ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยหลังเป็นประธานเปิดการฝึกอบรมดังกล่าวว่า กรมประมงได้ให้ความสำคัญกับการศึกษา วิจัย และพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อฟื้นฟูและทดแทนการจับจากธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันบางชนิดมีปริมาณลดน้อยลง โดยเฉพาะสัตว์น้ำเศรษฐกิจซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดให้เพียงพอกับความต้องการ  อีกทั้งยังมีการพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพการเพาะเลี้ยง เพื่อสนับสนุนและสร้างโอกาสทางการแข่งขันให้เกษตรกรไทยสามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน ตามนโยบายของนายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

ปลาชะโอน (Ompok biculatus) เป็นปลาน้ำจืดไม่มีเกล็ด อยู่ในวงศ์ปลาเนื้ออ่อน จัดเป็นปลาเศรษฐกิจชนิดใหม่ที่มีการเลี้ยงมากในภาคใต้ โดยเฉพาะในจังหวัดพัทลุง นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี นิยมบริโภคโดยนำมาแกงส้ม ต้มส้ม ทอดกระเทียม ฉู่ฉี่ และสามารถแปรรูปเป็นปลารมควันได้ ส่วนในภาคอื่น ๆ เริ่มมีเกษตรกรสนใจหาลูกพันธุ์เพื่อนำไปทดลองเลี้ยง  เนื่องจากเป็นปลาที่มีรสชาติดี เลี้ยงง่าย โตวัย ใช้เวลาเลี้ยง 8-10 เดือน สามารถจับจำหน่ายได้ ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 250-400 บาท โดยในปีงบประมาณ 2567 ที่ผ่านมา งานเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการผลิตพันธุ์กุ้ง พันธุ์ปลา และพันธุ์สัตว์น้ำอื่น ๆ ของกรมประมง  ซึ่งเป็นหน่วยผลิตปลาชะโอนเพื่อจำหน่ายลูกพันธุ์ สามารถผลิตลูกพันธุ์ปลาชะโอนได้ทั้งหมด 4,867,054 ตัว แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร เนื่องจากหน่วยงานที่ผลิตลูกพันธุ์ปลาชะโอนของกรมประมงยังมีจำนวนไม่มาก และบุคลากรยังต้องได้รับการถ่ายทอดเทคนิคในการเพาะอนุบาลปลาชะโอนจากผู้มีประสบการณ์ เพื่อให้มีความพร้อมสำหรับผลิตปลาชะโอนให้เพียงพอและมีคุณภาพรองรับต่อความต้องการของเกษตรกรที่เพิ่มมากขึ้น

 

กรมประมง จึงได้จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร การอนุบาลปลาชะโอนให้มีประสิทธิภาพสูงโดยการควบคุมอุณหภูมิ ขึ้น เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเพาะและอนุบาลปลาชะโอนจากหน่วยงานที่ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์และการอนุบาลให้แก่บุคลากรของหน่วยงานภายใต้โครงการเงินทุนหมุนเวียนฯ ของกรมประมง จากกองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด และกองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ จำนวน 21 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 40 ราย เพื่อนำความรู้ไปใช้ผลิตลูกพันธุ์ปลาชะโอน รวมถึงพันธุ์สัตว์น้ำชนิดอื่น ๆ ให้มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรต่อไป

 

สำหรับเนื้อหาการฝึกอบรมมีทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ประกอบด้วย การจัดการพ่อแม่พันธุ์ปลาชะโอนตามหลักพันธุศาสตร์ การผลิตพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อเป็นพ่อแม่พันธุ์ที่มีคุณภาพภายใต้ระบบปิด เทคนิคการอนุบาลลูกปลาชะโอนวัยอ่อน ระยะ 7 วัน ด้วยการควบคุมอุณหภูมิเพื่อให้มีอัตราการรอดตายสูง เทคนิคการอนุบาลลูกปลาชะโอนวัยอ่อน ระยะ 7 -21 วัน การอนุบาลลูกปลาชะโอนในบ่อคอนกรีต  รวมถึงการคัดขนาดปลาชะโอนระยะต่าง ๆ

 

รองอธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า การจัดอบรมในครั้งนี้จะช่วยเสริมศักยภาพให้บุคลากรภายใต้หน่วยผลิตของกรมประมงได้พัฒนาการผลิตลูกพันธุ์ปลาชะโอนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นสอดรับกับความต้องการของตลาดในอนาคต โดยในปีงบประมาณ 2568 กรมฯ ได้ตั้งเป้าหมายให้สามารถเพิ่มอัตราการผลิตลูกปลาชะโอนได้มากขึ้นจากเดิมร้อยละ 10 หรือ คิดเป็นจำนวน 5,353,759 ตัว เพื่อรองรับความต้องการของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมผลักดันให้ “ปลาชะโอน”เป็นดาวรุ่งแห่งวงการสัตว์น้ำจืดเศรษฐกิจชนิดใหม่ เพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกรในการประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่อไป

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube