กทม. – ทรัพยากรธรณี ร่วมถกผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นรับมือแผ่นดินไหว

กทม. และ กรมทรัพยากรธรณีร่วมผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่น หารือมาตรการรับมือแผ่นดินไหว หลังตึก สตง. ถล่ม
วันนี้(8 พ.ค. 68) น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมการหารือและแลกเปลี่ยนความเห็นการเตรียมความพร้อมและมาตรการรับมือเหตุแผ่นดินไหว ที่ ห้องประชุมกรมทรัพยากรธรณี โดยมี นายพิชิต สมบัติมาก อธิบกรมทรัพยากรธรณี เป็นประธาน และผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยแผ่นดินไหว จากประเทศญี่ปุ่นเข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้
โดย นายพิชิต อธิบกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า ถือเป็นวันสําคัญที่อยากหารือเรื่องแผ่นดินไหวและภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งก่อนหน้านี้สถานการณ์แผ่นดินไหวปกติแล้วไม่ค่อยส่งผลกระทบต่อประเทศไทยมากนัก แต่หลังจากเกิดแผ่นดินไหวล่าสุดที่เป็นเหตุทําให้ตึก สตง. ถล่มนั้น ประชาชนจึงเกิดความวิตกกังวล จึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมหารือกันในวันนี้ อย่างไรก็ตามแผ่นดินไหวเป็นภัยทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นมานานแล้วและเกิดขึ้นแทบทุกวัน
ด้าน นายปรพล อดิเรกสาร ที่ปรึกษาของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อม กล่าวว่า ได้เชิญ Dr.Kit Miyamoto (Global CEO , Miyamoto International) วิศวกรโครงสร้างชาวญี่ปุ่น-อเมริกัน ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Miyamoto International ซึ่งเป็นองค์กร วิศวกรรมโครงสร้าง ระดับโลก และผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยแผ่นดินไหว เพื่อมาแลกเปลี่ยนความรู้และแชร์ประสบการณ์เรื่องแผ่นดินไหวที่เจอด้วยตัวเองหลายแห่งทั่วโลกเพื่อเตรียมแผนป้องกันรับมือลดการสูญเสีย หลังไทยเจอแผ่นดินไหวรุนแรงเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งหลังประชุมในวันนี้คาดว่าจะมีการทําความร่วมมือร่วมกับหน่วยที่เกี่ยวข้องของกรุงเทพมหานครและภาคเอกชน
ขณะที่ น.ส.ทวิดา รองผู้ว่าฯ กทม. เหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นแล้วว่าอาคารใน กทม. มีความแข็งแรงมาก มีเพียงตึก สตง. เท่านั้นที่พังถล่ม ส่วนจะมาจากสาเหตุใดนั้นก็เป็นเรื่องของการตรวจสอบ จากการร่วมหารือในวันนี้ เบื้องต้นทางกรมทรัพยากรธรณีอยากที่จะทําการสํารวจทบทวนพื้นที่ กทม. อีกครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ประกอบกับ กทม. ได้เข้าร่วมโครงการ Resilient city ของ UN ที่จะมีการวัดว่าเมืองมีความพร้อมที่จะรับมือกับเรื่องต่างๆตลอดจนฟื้นกลับคืนได้ดีแค่ไหน
ซึ่งหนึ่งในแผนปฏิบัติการของ กทม. คือ เรื่องแผ่นดินไหวและภัยใดๆที่ก่อให้เกิดภัยตามนั้น ดังนั้นเวลาพูดถึงอาคารโครงสร้างก็เกี่ยวกับฐานราก ซึ่งทางกรมทรัพยากรธรณีมีความรู้มากจะทําให้ กทม. ได้ประโยชน์ อีกเรื่องคือจากการฟังทาง Dr.Kit Miyamoto ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งสิ่งที่เขานําเสนอ เช่น การปรับอาคารให้แข็งแรงขึ้น การทําให้อาคารมีความยืดหยุ่น หรือระบบเตือนภัย ซึ่ง กทม. อยากได้อุปกรณ์ที่สามารถมอนิเตอร์ได้ว่าผลกระทบที่เกิดแผ่นดินไหวขึ้นแต่ละครั้งจะส่งผลกระทบต่ออาคารมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะโรงพยาบาล ซึ่งสิ่งต่างๆที่เขาแนะนํามาถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews